Alumni
“กัญชา ยาดี หรือผีร้าย” ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นตามประโยคดังกล่าว เป็นปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอันเนื่องมาจากการที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด และมีผลใช้บังคับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทำให้เกิดปัญหาสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมายที่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายมาควบคุมการใช้กัญชาอย่างชัดเจน คำถามคือ แล้วกัญชา คือ “ยาดี” หรือ “ผีร้าย” กันแน่สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ณ ช่วงเวลานี้
กัญชา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. เป็นพืชล้มลุกที่ให้สารเคมีสำคัญหลัก 2 ตัว คือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) ที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยสารออกฤทธิ์ที่สำคัญจะอยู่ในยางของต้น ซึ่งปริมาณของสารก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และภูมิประเทศที่ปลูก มีการค้นพบว่าการใช้กัญชาของมนุษยชาติมีมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ (Neolithic Period)[1] และปรากฏในศาสตร์การแพทย์หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์แผนจีน ที่พบการใช้เมล็ดกัญชาเพื่อบำบัดอาการท้องผูกแบบอุจจาระแข็ง การแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ที่ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร นอนไม่หลับ และท้องร่วงเฉียบพลัน การใช้เพื่อการแก้ปวดพบในชาวอียิปต์ โรมัน และชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น กรีก ฝรั่งเศส และอาหรับ[2] สำหรับสรรพคุณของกัญชาในศาสตร์การแพทย์แผนไทย กัญชามีรสเมาเบื่อ ซึ่งแม้จะมีสรรพคุณทำให้เจริญอาหาร นอนหลับ แต่ถ้าใช้จำนวนมากหรือมีอาการแพ้จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หวาดกลัว ซึ่งก็สอดคล้องไปกับอดีตที่สาร THC ในกัญชาเคยจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518[3] แต่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดยพื้นฐานการใช้กัญชาทางการแพทย์จะอยู่บนหลัก 4 ประการ คือ ประการที่ 1 ความมีประสิทธิผล (effectiveness) ที่ผลการใช้กัญชาต้องมีข้อดีมากกว่าความเสี่ยง ประการที่ 2 ความปลอดภัย (safety) ในการเกิดอันตรายต่ำเมื่อใช้รักษา ตลอดจนจากการปลอมปนหรือปนเปื้อน ซึ่งข้อควรระวังในการเลือกใช้กัญชา คือ การตรวจสอบคุณภาพของกัญชา เพราะกัญชาสามารถดูดซับโลหะหนักจากดินได้อย่างรวดเร็ว ประการที่ 3 ความเป็นธรรม (equity) ที่ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใด และประการที่ 4 สามารถตรวจสอบได้ (accountability) ซึ่งการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย อาจแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแผนปัจจุบันที่มุ่งเน้นที่การใช้สาร THC และ CBD หรือการใช้ร่วมกันของทั้ง 2 สาร กลุ่มยาที่พัฒนามาจากสมุนไพร ซึ่งในที่นี้คือ น้ำมันกัญชา และกลุ่มยาแผนไทย ซึ่งจะแยกเป็น ยา 11 ตำรับ[4] ยาหมอพื้นบ้าน และเครื่องยากลาง[5]
ก่อนที่จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง กัญชากับงานสาธารณสุข (Public Health) ต้องทำความเข้าใจรากของความหมายของคำว่า “สาธารณสุข” ซึ่งเป็นการสนธิคำว่า “สาธารณะ” กับ “สุข” เข้าด้วยกัน โดยคำว่า “สุข” ในที่นี้ สื่อถึงความหมายของคำว่า “สุขภาพ” หรือถ้ากล่าวแบบความหมายโดยตรงของคำ คือ สุขภาพของมวลชนหรือประชาชน จึงอาจกล่าวได้ว่า ความหมายในเชิงนิรุกติศาสตร์ของคำว่า “สาธารณสุข” กว้างกว่า การรักษาความเจ็บป่วยของปัจเจกบุคคล ถ้าจะกล่าวถึงพุทธวจนะที่สะท้อนงานสาธารณสุขได้ดีที่สุด คือ “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะเป้าหมายของงานสาธารณสุข คือ “สุขภาพ” ของประชาชนที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ปราศจากความเจ็บป่วยเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งของบริบทงานสาธารณสุขที่ต้องทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วยโดยวิเคราะห์ถึงปัจจัยกำหนดสุขภาพ (Health Determinants)[6] เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน
ในภาวะปกติของร่างกายมนุษย์ที่ไม่เจ็บป่วยคือการที่ร่างกายมีความสมดุล ซึ่งมีคำอธิบายทั้งในศาสตร์การแพทย์แขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์วิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าภาวะธำรงดุล (Homeostasis) ที่ปรากฏในวิชาสรีรวิทยา (Physiology)[7] หรือการแพทย์ทางเลือกแขนงต่าง ๆ เช่น ภาวะความสมดุลของหยินหยางในศาสตร์การแพทย์แผนจีน หรือการดำรงภาวะไตรโทษะ (Tri Dosha) ของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ซึ่งการสร้างความสมดุลของร่างกายจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง ที่อยู่บนพื้นฐานของความพอดีไม่มากไป ไม่น้อยไป ซึ่งถ้าพิจารณาว่ากัญชา คือ “ยาดี” ก็ควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ คือ เพื่อการรักษาโรค หรือบำบัดภาวะที่ร่างกายเจ็บป่วยเสียสมดุล ไม่ใช่ใช้กัญชาอย่างพร่ำเพรื่อ ความน่ากังวลของปัญหากัญชากับงานสาธารณสุขของประเทศไทย ณ ช่วงเวลาสุญญากาศทางกฎหมายนี้ ที่อาจเป็น “ผีร้าย” คือ การใช้กัญชานอกเหนือจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์หรือการรักษาโรค โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การเสพเกินขนาดจนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากอาการมึนเมา การเสพติด การหลอนจนขาดสติและอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตตลอดจนโรคทางจิตเวชที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แม้จะมีหลายประเทศที่มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมพิจารณาว่าบริบทการบังคับใช้กฎหมายของประเทศเหล่านั้นเคร่งครัดกว่าของประเทศไทยหรือไม่ การออกแบบระบบกฎหมายที่เอื้อต่อการควบคุมกำกับการใช้กัญชาดีกว่าประเทศไทยหรือไม่ และประเทศไทยเราพร้อมมากน้อยเพียงใดกับการใช้กัญชาที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เพื่อการแพทย์ ในขณะที่ปรากฏข้อเท็จจริงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ณ ช่วงเวลาสุญญากาศทางกฎหมายนี้ คือ ปัญหาการเข้าถึงกัญชาของเด็กและเยาวชนที่พบการเสพและขายในสถานศึกษา จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลกำกับสถาบันการศึกษาต้องออกมาตรการเฝ้าระวังและห้ามการใช้กัญชา[8] ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ใช้กัญชาอย่างผิดวิธีในการนำมาบริโภคจนทำให้เกิดการเจ็บป่วย[9] ที่สำคัญปัญหาการใช้กัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น ๆ เช่น การใช้กัญชาร่วมกับยาสูบหรือบุหรี่ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่าทำให้การบำบัดเพื่อเลิกเสพกัญชาและยาสูบมีความยากขึ้น[10] ที่สำคัญอาจนำไปสู่ปัญหาการใช้ยาสูบเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะกัญชาวิธีการเสพที่นิยมใช้กัน คือ การสูบเอาควันเหมือนกับบุหรี่ หรือแม้แต่การใช้น้ำมันกัญชาเพื่อสูบกับอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า ก็เสี่ยงต่อการเกิดอาการปอดอักเสบจนเสียชีวิตได้ ดังที่เคยปรากฏตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา[11] ซึ่งจากที่กล่าวล้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นจากการใช้กัญชาที่ผิดวิธีและผิดวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น
ดังนั้น ณ ช่วงเวลานี้ของประเทศไทยก่อนที่จะมีกฎหมายกัญชาเป็นการเฉพาะมาควบคุม กำกับการใช้ กัญชาควรถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการสันทนาการหรือเพื่อการใช้ร่วมกับสารเสพติดอื่น ๆ เช่น ยาสูบหรือบุหรี่ ตลอดจนการใช้น้ำมันกัญชากับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งล้วนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ตราบใดที่ประเทศไทยยังคงมีภาวะสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมการใช้กัญชาในช่วงเวลาแบบนี้
โดย อาจารย์ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรบัณฑิต มสธ., วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) (สาขาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์), แพทย์แผนไทยบัณฑิต มสธ., นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายธุรกิจ) มธ. (รหัส 57), นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น คณะนิติศาสตร์ และรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์) มธ. (รหัส 60) |
อาจารย์ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร
[1] อัคนี มูลเมฆ, กัญชาปกรณัม ตำนานพืชพันธุ์แห่งเสรี (พิมพ์ครั้งที่ 3, สำนักพิมพ์ เคล็ดไทย 2558) 19.
[2] ชยันต์ พิเชียรสุนทร, ‘ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพืชกัญชา’ (การอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย (ต่ออายุ)
สภาการแพทย์แผนไทย, 2564) 15.
[3] พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ถูกยกเลิกโดย พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และต่อมา พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ถูกยกเลิกโดย ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564
[4] แต่เดิมในปี พ.ศ. 2562 มี 16 ตำรับ ตามบัญชีรายชื่อตำรับยาแผนไทยที่ประกาศกำหนดให้เป็นตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่อนุญาตให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2562 แต่ถูกยกเลิกไปโดย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2564 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) โดยตำรับที่หายไปได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาแก้โรคจิต ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง
[5] จักราวุธ เผือกคง, ‘กัญชาทางการแพทย์แผนไทย’ (การอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย (ต่ออายุ) สภาการแพทย์แผนไทย, 2564) 4,15.
[6] เพ็ญ สุขมาก, หลักคิด: สุขภาพ สุขภาวะปัจจัยกำหนดสุขภาพการสร้างเสริมสุขภาพ (เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ: การประเมินผลงานสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายนักประเมินผลงานสร้างเสริมสุขภาพภาคเหนือ, สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ไม่ระบุ พ.ศ.) 6.
[7] คณาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.สรีรวิทยา. (พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร :บริษัท เท็กแอนด์เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด, 2545) 2.
[8] ตัวอย่างเช่น กรณีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (วันที่ 15 มิถุนายน 2565)
[9] THAI PBS NEWS, พบ 9 คนป่วย "กัญชา" กลุ่มอยากทดลอง กินส้มตำ-กาแฟ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/316863
[10] Erin A McClure, Rachel A Rabin, Dustin C Lee, Chandni Hindocha, Treatment Implications Associated with Cannabis and Tobacco Co-Use. 10.1007/s40429-020-00334-8
[11] US Centers for Disease Control and Prevention, Outbreak of Lung Injury Associated with the Use of E-Cigarette, or Vaping, Products. Retrieved on 21 July 2022 from https://www.cdc.gov/tobacco/basic_information/e-cigarettes/severe-lung-disease.html
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ