Alumni

Gender Equality : A Slogan in Search of a Definition

โดย อาจารย์วริษา องสุพันธ์กุล *

าจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
Master de Droit Public, Université d'Aix-Marseille, Ph.D. Candidate in Human Rights Law, Monash University

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” (Gender Equality) ถูกให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นเป้าหมายและเป็นวาระในระดับสากลและในระดับประเทศ อันเป็นผลมาจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ เทียบเท่ากับผู้ชาย และเพื่อทำให้สังคมตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติและความยากลำบากที่ผู้หญิงทั่วโลกประสบ ความพยายามดังกล่าวปรากฏเป็นรูปธรรมในเอกสาร กฎหมาย และนโยบายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW) และปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง (Beijing Declaration and Platform for Action – BDPFA) รวมถึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

 

 

วิธีการหรือยุทธศาสตร์ที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศนั้นถูกเรียกว่า
“การบูรณาการประเด็นเพศภาวะเข้าสู่กระแสหลัก” (Gender Mainstreaming) ซึ่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาตินิยามว่า

“การบูรณาการมุมมองเพศภาวะเข้าสู่กระแสหลักคือกระบวนการการประเมินผลลัพธ์ของแผนปฏิบัติการ กฎหมาย โครงการ นโยบายในทุก ๆ ด้าน และทุก ๆ ระดับที่จะมีต่อผู้หญิงและผู้ชาย มันเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้ความเกี่ยวข้องและประสบการณ์ของทั้งผู้หญิงและผู้ชายเข้ามาเป็นมิติที่สำคัญของการออกแบบ การลงมือปฏิบัติ การกำกับ และการประเมินนโยบายและโครงการต่าง ๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ผู้หญิงและผู้ชายต่างได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ”[1]

การที่แต่ละประเทศรับเอายุทธศาสตร์ดังกล่าวไปดำเนินการย่อมส่งผลเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์การระหว่างประเทศเกิดการตื่นตัวที่จะคำนึงถึงเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศในการดำเนินงาน แม้ว่าหน่วยงานนั้นจะไม่ได้มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศโดยตรงก็ตาม ยุทธศาสตร์ Gender Mainstreaming จึงเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าและมุ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน ดังที่ Barbara Unmüßig ประธานมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ วิเคราะห์ว่า Gender Mainstreaming จะช่วยกำจัดมายาคติเรื่อง “ความเป็นกลางทางเพศ” (Gender Neutrality) ซึ่งไม่มีอยู่จริงเนื่องจากทุกการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือธุรกิจล้วนส่งผลต่อเพศต่าง ๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศต่าง ๆ ด้วย จึงไม่มีภาคส่วนใด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการเงิน ด้านการต่างประเทศด้านความมั่นคง ด้านตลาดแรงงาน หรือด้านการดูแลสุขภาพที่จะหลุดรอดไปจากการวิเคราะห์ผ่านมิติเรื่องเพศสถานะได้[2]

อย่างไรก็ตาม การที่ความเท่าเทียมระหว่างเพศถูกยกให้เป็นเป้าหมายของกระแสหลักนั้นก่อให้เกิดประเด็นคำถามที่ชวนคิดว่า แต่ละหน่วยงานหรือปัจเจกบุคคลที่ทำงานตามยุทธศาสตร์ Gender Mainstreaming นั้นมีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างไร ความเข้าใจดังกล่าวมีขอบเขตและเนื้อหาเหมือนหรือต่างกันแค่ไหนและเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า วาทกรรม “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” มีลักษณะเป็นพลวัตร กล่าวคือ มีการช่วงชิงพื้นที่ที่จะให้คำนิยามหรือกำหนดขอบเขตและเนื้อหาที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบริบท ช่วงเวลา และสถานที่ บทความนี้จึงมุ่งที่จะสำรวจภูมิทัศน์ของเป้าหมาย “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” โดยแบ่งประเด็นปัญหาออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

 

[1] UN Women, Gender Mainstreaming: Extract from Report of the Economic and Social Council For 1997 (A/52/3, 18 September 1997) 1.

[2] Barbara Unmüßig, ‘Gender Mainstreaming – Possibilities and Limits of a Radical Social Concept’ (Heinrich Böll Stiftung,
13 January 2009) accessed 25 August 2021.

 

 

1. “เพศ” ใดบ้างที่ถูกคุ้มครองในกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวกับ “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ”

นิยามอย่างเป็นทางการของ Gender Mainstreaming ที่ได้กล่าวไปแล้วตลอดจนเป้าหมายและตัวชี้วัดของ “Goal 5 Gender Equality” ใน SDGs นั้นมุ่งเน้นแต่เฉพาะการขจัดการเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงได้ประสบอันเนื่องมาจากเพศ/เพศสถานะของตน (sex/gender) ในขณะที่ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้ประสบอันเกิดจากการที่อัตลักษณ์ทางเพศวิถีทางเพศ การแสดงออกทางเพศ หรือเพศสรีระของพวกเขาไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของสังคมหรือที่คนส่วนใหญ่คาดหวังนั้นกลับไม่ปรากฏอยู่ในนโยบายเหล่านั้น การเพิกเฉยดังกล่าวทำให้เกิดคำถามน่าคิดว่าบรรดาผู้ร่างและผู้เจรจาวาระระดับสากลเช่น SDGs นี้ตัดสินใจอย่างไรว่า “เพศ” ใดบ้างที่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการคุ้มครองในสายตาของกฎหมายหรือนโยบายเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ การที่คำว่า “เพศ”ในเป้าหมาย “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” ถูกตีความอย่างแคบนั้นมักเกิดจากข้อจำกัดในการเจรจาและประนีประนอมเพื่อหาฉันทามติในการบรรจุถ้อยคำในวาระระดับระหว่างประเทศซึ่งยังมีบางรัฐที่ไม่ยอมรับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่[1] ทั้งนี้ นอกเหนือจากเอกสารที่เป็นทางการแล้ว แต่ละรัฐและแต่ละหน่วยงานก็สามารถกำหนดขอบเขตเป้าหมายดังกล่าวให้รวมถึงความหลากหลายทางเพศด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าการมุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติบนฐานของเหตุใดเหตุหนึ่งโดยละเลยข้อเท็จจริงว่าบุคคลแต่ละคนมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายเป็นการสร้างสมมุติฐานว่าสมาชิกในกลุ่มนั้น ๆ เหมือนกันทั้งหมด กล่าวคือ หากกล่าวถึงผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงซึ่งกฎหมายและนโยบายเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศมุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำนั้น เราก็อาจนึกถึงผู้หญิงในฐานะเป็นกลุ่มก้อนทางสังคมที่มีลักษณะเหมือนกัน โดยไม่ได้คำนึงว่าบุคคลที่มีเพศสรีระเป็นหญิงแต่ละคนต่างก็มีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี ชาติพันธุ์ อายุ อาจนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนา อาจมีความพิการในช่วงหนึ่งของชีวิตหรือตลอดชีวิต และลักษณะอื่น ๆ เฉพาะตน ดังนั้น ลักษณะบางอย่างอาจทำให้เกิดอภิสิทธิ์บางประการ ในขณะที่ลักษณะอื่นในบุคคลคนเดียวกันอาจส่งผลให้เกิด
ข้อเสียเปรียบ นอกจากนี้ ความเสียเปรียบที่บุคคลได้ประสบก็ยังได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสถานการณ์และบริบท เช่น ภูมิหลังทางการศึกษา หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมย่อมส่งผลให้ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติของผู้หญิงแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ การถูกเลือกปฏิบัติอันเกิดจากหลายลักษณะพร้อมกันและสัมพันธ์กันเช่นนี้เรียกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่มีลักษณะ “สภาวะทับซ้อน” (Intersectionality)[2]

ผู้เขียนเห็นว่ายุทธศาสตร์ Gender Mainstreaming ซึ่งถูกนิยามตั้งแต่ศตวรรษที่แล้วสมควรที่จะถูกทบทวนให้สอดคล้องกับพลวัตรของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยตีความคำว่า “เพศ” อย่างกว้างให้ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ และขยายไปถึงการเลือกปฏิบัติที่มีลักษณะอื่นซ้อนทับกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศด้วย มิฉะนั้นแล้ว กลุ่มคนที่เสียเปรียบที่สุดย่อมถูกมองข้ามและไม่ได้รับการคุ้มครอง

 

[1] ประเด็นการเพิกเฉยต่อการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศใน SDGs นำมาจากบทความของผู้เขียนใน Warisa Ongsupankul, ‘Finding Sexual Minorities in United Nations Sustainable Development Goals: Towards the Deconstruction of Gender Binary in International Development Policies’ (2019) 5 LSE Law review 1.

[2] ดู Sandra Fredman, ‘Intersectional Discrimination in EU Gender Equality and Non-Discrimination Law’ (European Commission, 2016)

 

รูปจาก UN Women, Turning Promises into Action: Gender Equality for the 2030 Agenda for Sustainable Development (2018 UN Women) 136.

 

2. แนวคิด “ความเท่าเทียม” แบบใดที่เป็นตัวกำหนดกรอบนโยบายเพื่อ “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ”

เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่อง “เพศ” แนวคิดเรื่อง “ความเท่าเทียม” หรือความพยายามที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนในสังคมก็ไม่ได้มีลักษณะตายตัวจำกัดอยู่แค่แบบเดียว ในแวดวงวิชาการเราอาจแบ่งแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมออกเป็น 3 แนวคิดด้วยกัน[1] แนวคิดเริ่มแรกคือ “แนวคิดความเท่าเทียมในเชิงรูปแบบ” (formal equality) ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อบุคคลให้เหมือนกัน (equality of treatment) กล่าวคือ ผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนผู้ชายเพื่อที่จะเท่าเทียมกับผู้ชาย แนวคิดนี้เป็นการขจัดการเลือกปฏิบัติทางตรงแต่เนื่องจากการปฏิบัติต่อผู้หญิงแบบเดียวกับผู้ชายอาจไม่ทำให้เกิดความเสมอภาคในทางความเป็นจริงอันเป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างเพศ จึงได้เกิด “แนวคิดความเท่าเทียมในเชิงเนื้อหา” (substantive equality) ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคในผลลัพธ์และ/หรือในโอกาสที่บุคคลได้รับ (equality of opportunity/result) โดยมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อความเท่าเทียมจะต้องคำนึงถึงว่าความแตกต่างของบุคคลในบริบทใดเรียกร้องให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน แนวคิดเช่นนี้ช่วยขจัดการเลือกปฏิบัติทางอ้อม กล่าวคือทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของผลจากการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติตามนโยบายที่ดูเป็นกลางแต่กลับก่อให้เกิดความเสียเปรียบกับคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป มีการตระหนักถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มทางสังคมจึงมี “แนวคิดความเท่าเทียมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” (transformative equality) ซึ่งจะคำนึงถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างอันเป็นสาเหตุของการถูกเลือกปฏิบัติด้วย เช่น การปลุกจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านการปฏิรูปการศึกษาและวัฒนธรรมที่ผลิตบทบาททางเพศที่ตายตัว

การตั้งคำถาม 2 ประการข้างต้นทำให้เราเห็นความหลากหลายของนิยาม ขอบเขต และแนวคิดเบื้องหลังวาทกรรม “Gender Equality” ที่ดูเหมือนเป็นคำขวัญที่ยังตามหาคำจำกัดความ ทั้งนี้ ลักษณะไม่ตายตัวเช่นนี้ก็ทำให้แนวคิดดังกล่าวได้มีโอกาสเป็นวัตถุแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ มีพื้นที่ให้ได้เกิดการพัฒนา ทบทวนข้อจำกัด และเพิ่มเติมมิติใหม่ ๆ เพื่อรองรับความท้าทายอันเกิดจากความสัมพันธ์ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเราจะนิยามคำว่า “Gender Equality” อย่างไร ผู้เขียนเห็นว่าต่อเมื่อการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของลักษณะและประสบการณ์ของมนุษย์ในทุกมิติถูกบูรณาการเข้าสู่กระแสหลักด้วย ความมุ่งหมายของ SDGs ที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” จึงจะสัมฤทธิ์ผลในโลกแห่งความเป็นจริง


[1] ดู Andrea Broderick, The Long and Winding Road to Equality and Inclusion for Persons with Disabilities (Intersentia 2015) Chapter 3.


14 ธันวาคม 2564


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ