Alumni
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาตินั้น ครอบคลุมในทุกมิติของการพัฒนา ซึ่งรวมถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) และสันติภาพและความยุติธรรม (SDG 16) บทความนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องความสำคัญของ SDGs และบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ในเรื่องการศึกษาเพื่อเรียนรู้เรื่องความยุติธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของการศึกษากฎหมาย
1. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนคืออะไร
ในปี พ.ศ.2556 (ค.ศ.2013) องค์การสหประชาชาติได้ตระหนักว่าสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมิใช่เพียงแค่ข้อมูลตัวเลขและการคาดการณ์ในวารสารวิชาการอีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง[1] 193 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จึงได้ตกลงที่จะดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวจนเกิดเป็น “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs)” โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) เป็นต้นมา
สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญที่สุดในการตกลงร่วมกันของนานาชาติในครั้งนี้คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปี พ.ศ.2556 นั้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นประมาณ 0.8 องศาเซลเซียส องค์การสหประชาชาติคาดหมายว่าถ้าโลกไม่ร้อนเกินไปกว่า 2 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่รุนแรงเกินไป และมนุษย์ยังพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ทัน ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าโลกจะร้อนเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในปี พ.ศ.2561 (ค.ศ.2018) เมื่อโลกร้อนขึ้นถึง 1 องศาเซลเซียส ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนกลับมีความรุนแรงเกินกว่าที่คาดหมายไว้มากจนบรรดานักวิชาการและสื่อมวลชนถึงกับเปลี่ยนคำเรียกจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)” เป็น “วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis)” องค์การสหประชาชาติจึงเห็นว่าจุดที่อุณหภูมิของโลกจะร้อนขึ้นจนแก้ไขไม่ได้นั้น ไม่ใช่ 2 องศาเซลเซียส แต่อาจจะเป็นเพียงแค่ 1.5 องศาเซลเซียสเท่านั้นโดยที่คาดการณ์กันว่าเวลาโลกจะร้อนขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสจะมาถึงในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030)[2]องค์การสหประชาชาติจึงปรับแผนจากเดิมที่กำหนดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะต้องเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ให้เป็นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยกำหนดให้ระยะเวลานับถอยหลัง 10 ปีก่อนถึง พ.ศ.2573 เป็น “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action)” เพื่อดำเนินการเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้บรรลุผลได้อย่างแท้จริง
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีทั้งหมด 17 ข้อ ซึ่งไม่ได้มีแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ครอบคลุมในทุกมิติที่มนุษย์จำเป็นต้องคำนึงถึงในการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งในเรื่องการขจัดความยากจน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงสันติภาพและความยุติธรรม[3] ซึ่งเป็นวาระของ “แผนการแห่งการลงมือทำเพื่อผู้คน โลก และความเจริญรุ่งเรือง”[4] โดยเป็นมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่รวมกันอยู่โดยไม่แยกส่วนกัน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการที่มี SDG 16 “เรื่องสันติภาพและความยุติธรรม” และ SDG 17 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายคือ “ความร่วมมือกันในการบรรลุเป้าหมาย” ทำให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้มีมิติในทางการเมืองรวมอยู่ด้วย
2. การดำเนินการเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการศึกษาที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs มาเป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (SDG 7) การลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) การลดและเลิกการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (SDG 12) สุขภาพและการมีชีวิตที่ดี (SDG 3) และในปี พ.ศ.2561 คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (กบม.) ได้เห็นชอบให้คณะต่าง ๆ ทุกคณะมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างน้อย 1 ข้อ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4)
ความหมายของ “การศึกษาที่มีคุณภาพ” คือ การมุ่งที่จะประกันการศึกษาที่คำนึงถึงทุกคนและมีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน[5] ซึ่งมีข้อย่อยที่ 4.5 คือ ขจัดการเลือกปฏิบัติทั้งปวงในการศึกษา (Eliminate All Discrimination in Education) และ 4.7 คือการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเป็นพลเมืองโลก (Education for Sustainable Development and Global Citizenship) ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำได้โดดเด่นจนเป็นตัวอย่างให้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยเป้าหมาย SDG 4.5 เรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทั้งปวงในการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการต่าง ๆ ในการรับผู้ด้อยโอกาสเข้าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการนักเรียนเรียนดีในชนบท โครงการนักเรียนเรียนดีในเขตเมือง และโครงการนักศึกษาพิการ และมีการจัดตั้งศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (Disabled Student Center) ขึ้นมาเพื่อขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงชั้นเรียนและเนื้อหาของการเรียนได้ ซึ่งการจัดตั้งดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ถึงขนาดสามารถทำให้นักศึกษาผู้พิการมีอัตราการศึกษาจนจบและมีงานทำสูงกว่านักศึกษาปกติเลยทีเดียว
สำหรับ SDG 4.7 คือการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเป็นพลเมืองโลกนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีวิชา “พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าวิชา TU 100 ตามชื่อรหัสวิชา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 โดยอยู่ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ที่นักศึกษาทุกคณะต้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องของการเป็นพลเมืองที่มีเสรีภาพควบคู่กับความรับผิดชอบ โดยมุ่งเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและด้วยการลงมือทำ เป้าหมายมิใช่เพียงการเรียนรู้ให้เป็นพลเมืองของประเทศไทยแต่เรียนรู้ให้เป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) ด้วย โดยในปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมาได้มีเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ SDGs เป็นส่วนสำคัญของการเรียนวิชานี้ด้วย และตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมาได้ปรับเปลี่ยนชื่อวิชาเป็น “การลงมือทำของพลเมือง” (Civic Engagement) เพี่อมุ่งเน้นในเรื่องการลงมือทำให้มากยิ่งกว่าเดิม
3. การศึกษาเพื่อเรียนรู้เรื่องความยุติธรรมของคณะนิติศาสตร์
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 16 มุ่งที่จะส่งเสริมความยุติธรรม สันติภาพ และสังคมที่คำนึงถึงสมาชิกทุกคน[6] ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานิติศาสตร์โดยนอกจากการศึกษากฎหมายในรายวิชาต่าง ๆ ของคณะนิติศาสตร์ที่คณาจารย์ได้สอนหรือสอดแทรก
เรื่องความยุติธรรมแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มใช้วิธีการเรียนการสอนแบบ Clinical Legal Education หรือ pro bono โดยให้ทำโครงงานกฎหมายบริการสังคมในวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย ซึ่งเป็นวิชาสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องความยุติธรรม
และการสร้างความยุติธรรมโดยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 10 ปีเต็มแล้ว
pro bono ในวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายมีลักษณะเป็นโครงงานกลุ่ม หนึ่งกลุ่มประกอบด้วยนักศึกษาประมาณ 10 คน โดยมีหลักการคือ นักศึกษาเป็นเจ้าของโครงงาน อาจารย์เป็นโค้ช อาจารย์หนึ่งคนจะดูแลโครงงานกฎหมายประมาณ 5 - 6 กลุ่มต่อหนึ่งภาคการศึกษา โดยที่โครงงานกฎหมายจะต้องไม่ใช่แต่เพียงทำรายงานการศึกษา หรือเพียงเผยแพร่ความรู้กฎหมาย หากแต่จะต้องมุ่งแก้ปัญหากฎหมายหรือใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาให้ประชาชนหรือชุมชนที่ประสบปัญหา โดยให้มีการค้นคว้าทั้งกฎหมายและความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ในกระบวนการทั้งหมดนี้ นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมาย การเรียนรู้วิธีการค้นคว้าหาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การทำงานร่วมกับผู้อื่น การตระหนักว่าความยุติธรรมและสันติภาพเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกันและเป็นเป้าหมายของกันและกัน และเรียนรู้ “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย” ด้วยตนเองจากการลงมือปฏิบัติ พร้อมกันกับการที่ประชาชนหรือชุมชนที่เดือดร้อนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายด้วย ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีโครงงานกฎหมายบริการสังคมของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้ง 3 หลักสูตร คือ ภาคปกติ ภาคบัณฑิต และศูนย์ลำปาง เป็นจำนวนมากที่สามารถแก้ปัญหาสำเร็จ หรือสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา โครงงานที่โดดเด่น ได้แก่ โครงงาน “ไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ที่ทำต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว จนเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้เงินในการประกันตัว[7] และการช่วยผู้ต้องขังเป็นจำนวนมากที่ถูกกักขังเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับได้ออกมาจากเรือนจำและทำงานบริการสังคมแทนการถูกกักขัง[8] โครงงานช่วยเรื่องสัญชาติสำหรับผู้ไร้สัญชาติ โครงงานที่ช่วยเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ รปภ.ของมหาวิทยาลัย โครงงานช่วยเพิ่มค่าตอบแทนให้กับคนงานก่อสร้าง โครงงานช่วยเหลือเรื่องสิทธิต่าง ๆ และโครงงานสิ่งแวดล้อมอีกเป็นจำนวนมาก
ผู้เขียนขอส่งท้ายด้วยคำของ “โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program – UNDP)” ที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ว่า “เราไม่อาจคาดหวังถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้โดยปราศจากสันติภาพ เสถียรภาพ สิทธิมนุษยชน และรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของหลักการปกครองโดยกฎหมาย”[9] และนี่เองคือสิ่งที่นักศึกษากฎหมายจะต้องเรียนรู้ว่า ไม่มีความยุติธรรม ก็ยากจะมีสันติภาพ แต่จะมุ่งความเป็นธรรม โดยไม่สนใจสันติภาพก็ไม่ได้ เพราะนั่นจะนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรง “กฎหมาย” และ “การปกครองโดยกฎหมาย (the Rule of Law)” จึงเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทั้ง 2 ประการและจะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งหมายถึง “อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน” ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
[1] โปรดดู https://climate.nasa.gov/evidence/; https://en.m.wikipedia.org/wiki/Global_temperature_record
[2] Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC), https://www.ipcc.ch/.../2018/11/pr_181008_P48_spm_en.pdf
[3] “Take Action for the Sustainable Development Goals”, the United Nations, https://www.un.org/sustain.../sustainable-development-goals/
[4] “a plan of action for people, planet and prosperity”, SDG-Education 2030 Steering Committees, https://sdg4education2030.org/the-goal
[5] “ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all”, ibid.
[6] Goal 16 “Promote just, peaceful and inclusive societies”, https://www.un.org/sustainabledevelopment/peace-justice/
[7] The Standard, ธนกร วงษ์ปัญญา, 20 พฤศจิกายน 2560, https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fthestandard.co%2Fno-one-is-in-jail-since-poorness/
[8] The Standard, ทัพพนัย บุญบัณฑิต, 30 เมษายน 2562, https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fthestandard.co%2Fno-one-is-in-jail-since-poorness-2/
[9] “We cannot hope for sustainable development without peace, stability, human rights and effective governance, based on the rule of law.”, https://www.undp.org/content/undp/en/home/sustainable-development-goals/goal-16-peace-justice-and-strong-institutions.html
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ