Alumni
โดย อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร *
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยึดมั่นในคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนความเสมอภาค และเสรีภาพมาอย่างช้านาน ซึ่งสะท้อนผ่านการเรียนการสอนกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีต่าง ๆ ทั้งระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ในด้านความหลากหลายทางเพศนั้น ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะยังไปไม่ถึงจุดที่ทุกคนเคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าสังคมไทยได้ก้าวหน้าจากสังคมที่เต็มไปด้วยอคติมาสู่สังคมที่ตั้งคำถามต่ออคติเหล่านี้และเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศมากยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฏเด่นชัดในพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 รวมถึงการผลักดันกฎหมายเพื่อให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิในครอบครัวอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ แนวโน้มของสังคมเช่นนี้สร้างความหวังอย่างยิ่งว่าประเทศของเรากำลังเดินหน้าไปสู่สังคมที่มีบรรทัดฐานใหม่อันเป็นสังคมที่เคารพในคุณค่าของกันและกันในฐานะมนุษย์โดยปราศจากอคติเพียงแค่เหตุที่บุคคลดังกล่าวมีวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ หรือลักษณะของเพศสรีระไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสังคม เช่น ความเชื่อในความรักต่างเพศเป็นใหญ่ เพศสถานะสอดคล้องเป็นใหญ่ หรือเชื่อว่าระบบเพศแบบขั้วตรงข้ามเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้นที่มนุษย์พึงมีและควรค่าแก่การยอมรับ ดังนั้น ในสังคมที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานใหม่เช่นว่านี้ แม้คนในสังคมจะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็สามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยเสรีและสามารถเข้าถึงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกสังคมตัดสินหรือตีตรา
|
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ให้การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศผ่านการแสดงออกต่าง ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อาทิ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการแต่งกายและเครื่องแบบของนักศึกษา พ.ศ. 2564 ข้อ 9 วรรค 2 ที่ให้สิทธิแก่นักศึกษาในการแต่งกายตามเพศสภาพ การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศในระดับมหาวิทยาลัย การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาคในระดับคณะฯ การจัดเสวนาวิชาการว่าด้วยร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตในหลายวาระ เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากการรับฟังเสียงของนักศึกษากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทำให้ผู้เขียนได้รับรู้ว่านักศึกษายังคงมีความกังวลไม่น้อยที่จะถูกตัดสินหรือไม่ได้รับการยอมรับจากคณาจารย์และคณะฯ ผู้เขียนจึงมีความกังวลว่า
"คณะฯ จะส่งเสริมให้บัณฑิตของเราเป็นนักกฎหมายที่ดีมีคุณธรรม เคารพในความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร หากยังมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ต้องปกปิดความเป็นตัวของตัวเองเพราะความกลัวใน “อคติ” ของคนในสังคมหรือมีความกังวลว่าตัวตนของเขาจะถูกตัดสินว่า “ไม่เท่า” กับมนุษย์คนอื่น"
จากการแลกเปลี่ยนกับทั้งเพื่อนอาจารย์และนักศึกษาทำให้ผู้เขียนเห็นความจำเป็นที่คณะนิติศาสตร์ต้องประกาศจุดยืนว่าด้วยการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทั้งนักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงนำมาสู่การประกาศคุณค่าและนโยบายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการยอมรับความหลากหลายทางเพศ[1] ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 การสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจนี้มีกลไกรองรับที่สำคัญ คือ การรับเรื่องร้องเรียนโดยคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาค หากมีผู้ถูกเลือกปฏิบัติดูหมิ่น ตีตรา เกลียดชัง ไม่เคารพให้เกียรติด้วยเหตุอันเกิดจากความหลากหลายทางเพศ[2] นอกจากนี้ ผู้เขียนยังคาดหวังว่าประกาศฯ ดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมคุณค่าและสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคม โดยเริ่มต้นจากสังคมหน่วยเล็ก ๆ ภายในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ โดยการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ แนวทางการปฏิบัติตัวหรือการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ
ผู้เขียนเชื่อว่าความเสมอภาคและการเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเกิดขึ้นจริงในในสังคมไม่ได้ หากการดูหมิ่น ตีตรา หรือ “พูดสนุกปาก” ด้วยเหตุแห่งความหลากหลายทางเพศยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้พูดสามารถพูดได้โดยผู้รับผลของคำพูดถูกคาดหวังให้ “ไม่ต้องคิดมาก” นอกจากเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและการสร้างคุณค่าและบรรทัดฐานใหม่แล้ว ทางคณะฯ ยังมีการทบทวนแก้ไขแนวปฏิบัติของคณะฯ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การขอข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษาและบุคลากร การประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ผู้เขียนรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งที่คณะผู้บริหารให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดการประกาศคุณค่าและนโยบายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการยอมรับความหลากหลายทางเพศนี้ขึ้น รวมถึงรู้สึกขอบคุณในความพยายามของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ช่วยกันสร้างสังคมของคณะนิติศาสตร์ที่เคารพในความแตกต่างหลากหลายโดยการทบทวนแนวปฏิบัติต่าง ๆ ของตน นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีความภูมิใจอย่างยิ่งในตัวนักศึกษาที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดประกาศฯ ดังกล่าวขึ้นและได้ร่วมกันจัดตั้งชมรม Thammasat Pride and Allies เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้กับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงชมรม Thammasat Law School Feminist’s Club เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของคนทุกเพศและตั้งคำถามกับ “ปิตาธิปไตย” แน่นอนว่าการสร้างคุณค่าและบรรทัดฐานใหม่ในสังคมนั้นไม่สามารถทำให้สำเร็จได้โดยฉับพลันทันที แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าสังคมที่ทุกคนเคารพซึ่งกันและกันบนฐานของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมอันเป็นสังคมที่ทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงออกและได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และกำลังจะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ