News And Activities
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ อานี *
ตาม “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)” คือ ประมวลเป้าหมายโลกในการสร้างการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลัก คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ประกาศขึ้นในปี พ.ศ. 2558 และมีความคาดหวังให้บรรลุเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งสิ้น 17 ข้อ โดย “การศึกษาเชิงคุณภาพ” หรือการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (SDG 4: Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all) เป็นกรอบเป้าหมายที่ 4 ทว่าหลักประกันนี้ถูกสั่นคลอนเป็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียนของสถานศึกษาทั่วโลก ดังปรากฏข้อมูลของ UNESCO เกี่ยวกับผลกระทบโควิด–19 ต่อการจัดการศึกษาทั่วโลกพบว่า ณ วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีประเทศที่ปิดสถานศึกษาจำนวน 107 ประเทศ มีผู้เรียนในระบบได้รับผลกระทบร้อยละ 60.9 (COVID-19 Impact on education)[1] ประกอบกับกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) เปิดเผยผลการสำรวจสถานการณ์การศึกษาทั่วโลกล่าสุด พบว่ายังมีเด็กวัยเรียนทั่วโลกมากกว่า 616 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากการที่โรงเรียนต้องปิดโรงเรียนตามมาตรการป้องกันการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19[2] ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เช่นเดียวกัน จนมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบการศึกษาใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้น มีการใช้สื่อที่หลากหลายประเภท (multimedia) ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยรูปแบบที่นิยมใช้กันคือ การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (online)
การเรียนการสอนแบบออนไลน์นับว่าเป็นประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 เนื่องด้วยทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่ต้องเดินทางรวมถึงพบปะกับบุคคลอื่น รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก รวมถึงค่าอาหารที่ต้องใช้จ่ายในการไปเรียน การเรียนการสอนออนไลน์จึงได้ทำลายข้อจำกัดของสถานที่และเวลาทำให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ได้ตามแต่ปรารถนาหากมีระบบอินเทอร์เน็ต (internet) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์จะมีข้อดีดังกล่าวข้างต้น แต่ข้อเสียก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อบรรยากาศการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลต่อสมาธิในการเรียนของผู้เรียน ค่าใช้จ่ายที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องใช้ในการเข้าถึงโปรแกรมออนไลน์ที่จำเป็นในการเรียนการสอน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตที่มีสมรรถณะสูงเพียงพอสำหรับการเรียนการสอน
สำหรับประเทศไทยนั้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญมาก่อนเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อยู่แล้ว แต่เมื่อหลังการระบาดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวกลับเพิ่มมากยิ่งขึ้น เปรียบเปรยราวกับว่า
“โควิด-19 สร้างสะพานสู่โอกาสของเด็กรวยแต่ก็ได้สร้างกำแพงกั้นโอกาสของเด็กจน”
ขึ้นมา[3] ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ ความไม่เท่าเทียมกันของคุณภาพและมาตรฐานของการจัดการศึกษาที่ผู้เรียนได้รับช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อันมีสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจ ปัจจัยภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้เรียน รวมถึงคุณภาพและมาตรฐานที่แตกต่างกันของสถานศึกษาต่าง ๆ และระดับการศึกษาของผู้เรียนแต่ละช่วงชั้น ดังนั้น ในช่วงของการปรับวิถีชีวิตใหม่ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นผลกระทบโดยตรงต่อผู้เรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยและไม่มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ยิ่งทำให้โอกาสในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนในสังคมและภูมิภาคลดน้อยลงไปด้วย[4]
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีของนักเรียนนักศึกษา คือ ฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว การระบาดของโควิด-19 นั้นส่งผลให้กิจกรรมในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจแทบหยุดชะงัก ส่งผลให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน อาทิ พักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประกาศมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โครงการคนละครึ่ง โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นต้น เหล่านี้ส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยเช่นกัน ทว่าก็เป็นเพียงการทุเลาผลกระทบระยะสั้น ๆ เท่านั้น
ในต่างประเทศมีการแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศอันจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่น่าสนใจ อาทิ ประเทศสิงคโปร์มีการแจกแท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกคนภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 พร้อมทั้งเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับซื้ออุปกรณ์ให้กับนักเรียนทุกคนอีกคนละ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยหากเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำก็จะได้รับพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น ประเทศเกาหลีใต้ก็มีการแจกอุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงให้เช่าอุปกรณ์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาส รวมทั้งทำระบบให้นักเรียนสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มสำหรับเข้าสู่การเรียนออนไลน์ได้ โดยไม่คิดค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น[5]
ส่วนประเทศไทยนั้น จากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ระบุปัญหาการศึกษาในประเทศไทยว่าคุณภาพการศึกษาต่ำ ไม่สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศระบบการจัดสรรทรัพยากรในระบบการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ และมีความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 จึงระบุว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยการจัดตั้งกองทุนหรือองค์กรอิสระ อาทิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เพื่อขับเคลื่อนดูแลเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์[6]
ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ช่องทางหนึ่งที่รัฐสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันเป็นผลมาจากการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาได้ในระยะยาวก็คือ การจัดสรรงบประมาณโดยผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 (มาตรา 5, มาตรา 10, มาตรา 23, มาตรา 29) อาทิ ทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) ที่เริ่มต้นในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ทุนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “การจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อไม่ให้มีเด็กคนไหน ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้แต่คนเดียว” แต่อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติการให้เงินอุดหนุนเพียง 3,000 บาท นับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับราคาอุปโภคเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ทุนดังกล่าวยังกำหนดให้ครอบคลุมเงื่อนไขในการใช้จ่ายเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพระหว่างเรียน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ค่าอาหาร ค่ากิจกรรมการพัฒนานักเรียนทุน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในการตีความว่าสามารถใช้จ่ายอย่างครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทแท็บเล็ต แล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือ หรือค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือไม่
แต่ท้ายที่สุดแล้วการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับทั้งการเรียนออนไลน์และเรียนในสถานที่ตั้งสถาบันการศึกษาเป็นอันดับแรก รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเพื่อการศึกษาที่รองรับวิกฤตการณ์ในระยะสั้น แต่ก็ยังสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การปรับระบบการศึกษาเรียนรู้ที่เน้นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเพื่อการปฏิบัติงานจริง การปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดขึ้นไปได้พร้อม ๆ กับการหารายได้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างรายได้ไปพร้อม ๆ กับการศึกษา เป็นต้น วิกฤตการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันเกิดจากข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีในยุคหลังโควิด-19 ก็จริง ทว่านั่นก็ไม่ได้หมายความว่าในวิกฤตินั้นจะไม่มีโอกาสเสียเลย เพียงแต่ว่าทุกภาคส่วนต้องช่วยกันวิเคราะห์ วิพากษ์ บูรณาการ เพื่อพลิกวิกฤติของความเหลื่อมล้ำให้เป็นโอกาสในการทลายความเหลื่อมล้ำให้ได้
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ อานี *
คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัส 37), ประกาศนียบัตรวิชาชีพทนายความสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,
นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัส 57)
[1] รายงานการศึกษา “รูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
โควิด–19” (ฉบับสรุป) กรุงเทพฯ : สกศ.,2564, น. 1.
[2] Hindustan Times / Hannah Richardson – BBC. นงลักษณ์ อัจนปัญญา. (แปลและเรียบเรียง. (2565, 5 กุมภาพันธ์).นิเซฟชี้ ยังมีเด็กได้รับผลกระทบการปิดโรงเรียนทั่วโลกกว่า 600 ล้านคน. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565. จาก https://www.eef.or.th/news-unicef-laments-education-losses/
[3] กานต์ธีรา ภูริวิกรัย. (2564, 8 สิงหาคม). เมื่อโควิดดิสรัปต์การศึกษา : เปิดบทเรียนความเหลื่อมล้ำในวันที่โลกติดไวรัส. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565. จาก https://www.eef.or.th/inequality-in-education-and-covid-19/
[4] วินิจ ผาเจริญ และคณะ. (2564)” ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของพลเมืองไทยวัยเรียนกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ใน
ยุคไวรัสโควิด-19. วารสารปัญญาปณิธาน 6 (1). (มกราคม– มิถุนายน), บทนำ.
[5]วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา. (2563, 14 พฤษภาคม). เพราะการศึกษาหยุดไม่ได้ ต่างประเทศเรียนกันอย่างไรในช่วงโควิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565. จาก https://www.the101.world/education-abroad-covid/
[6] สุดารัตน์ พรมสีใหม่. (มปท.). ลดเหลื่อมล้ำยังไงให้ยั่งยืน? คุยกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565. จาก https://adaymagazine.com/eef-education
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ