Alumni
ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม, รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (รุ่น 2533)
“ในปี พ.ศ.2565 นี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ก่อตั้งมาครบรอบ 88 ปี ถือเป็นสถาบันการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประเทศ คำถามที่เราควรร่วมกันพิจารณาคือ คณะนิติศาสตร์จะก้าวต่อไปในแนวทางไหน หรือถ้าจะตั้งคำถามในแนวยุทธศาสตร์ของรัฐก็คือนิติศาสตร์ 4.0 (หรือ 5.0) ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
ตั้งแต่ผมเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2533 เกิดเหตุการณ์หรือที่เรียกกันปัจจุบันว่า Disruption หลายอย่างที่กระทบต่อคณะนิติศาสตร์และสมาชิกของคณะทั้งนักศึกษา คณาจารย์และบรรดาศิษย์เก่าในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนกระแสความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและระดับโลก ผมยังจำได้ดีว่ารุ่นนักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 33 ทุกคณะถือเป็นรุ่นที่ 4 ที่ยังต้องเรียนที่ศูนย์รังสิตในปีหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายเข้าเรียนแต่ละคณะที่ท่าพระจันทร์ในปีสอง ในช่วงซัมเมอร์ปีหนึ่งนั้นเองเกิดการปฏิวัติรัฐบาลชาติชายโดยคณะ รสช. และต่อมาก็เกิดเหตุพฤษภาทมิฬขึ้นในปี พ.ศ. 2535 ในทางการเมืองประเทศไทยอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยแปรปรวนดีร้ายสลับกันไป แต่แน่ชัดว่าโครงสร้างกฎหมายและการเมืองไม่สามารถจัดการความแตกต่างทางขั้วความคิดการเมืองได้จนนำไปสู่ความรุนแรงและรัฐประหาร อีกทั้งการล้มและแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความถี่มากกว่าการปรับปรุงกฎกระทรวงส่วนใหญ่เสียอีก ในปี พ.ศ. 2540 เราเข้าสู่ทศวรรษที่มีการจัดตั้งศาลปกครองและองค์กรอิสระซึ่งนำมาสู่การปรับปรุงเนื้อหาวิชาการเรียนการสอนในด้านกฎหมายมหาชน
ในทางเศรษฐกิจเราผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งล้วนไม่น่ารับประทานทั้งสองครั้งแต่ทำให้เรามีการปรับปรุงกฎหมายทางเศรษฐกิจจำนวนมาก จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและผลกระทบของการบุกรุกดินแดนประเทศยูเครนทำให้เกิดความตระหนักว่าทุกประเทศมีความเชื่อมโยงข้ามพรมแดนซึ่งยิ่งชัดเจนขึ้น มิไยต้องกล่าวถึงการเชื่อมโลกผ่านระบบดิจิทัลที่ทำให้เทคโนโลยี blockchain และสกุลเงินตราและสินทรัพย์ดิจิทัลใช้กันอย่างแพร่หลาย
ในช่วงสี่ปีที่ผมเรียนจนได้รับปริญญาในปี พ.ศ. 2537 นั้น เมื่อมองกลับไปก็เห็นว่าหลายวิชาที่ควรมีการเรียนการสอนในชั้นปริญญาตรีขณะนั้นยังไม่มี เช่น สิทธิมนุษยชน กฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล และกฎหมายอาเซียนเป็นต้น แล้วนิติศาสตร์ 4.0 หรือ 5.0 จะมีหรือควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร? เนื้อที่นี้คงไม่พอจะวิเคราะห์รายละเอียด แต่โดยหลักผมคิดว่าคงประกอบด้วยหลายมิติ ทั้งในด้านการบูรณาการเนื้อหาและรูปแบบการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล การปลูกฝังมิติความยั่งยืน การสร้างมโนทัศน์ที่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมในสังคม ที่สำคัญคือการที่คณะจะก้าวเดินอย่างมั่นคงก็ย่อมขึ้นอยู่กับความสามัคคีและคุณภาพของสมาชิกทุกภาคส่วน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาคมซึ่งรวมถึงความเห็นของศิษย์เก่าและผู้มีส่วนได้เสียในการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร คุณภาพผู้เรียนและผู้สอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ในฐานะศิษย์เก่าผมขออวยพรให้คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เจริญก้าวหน้าเป็นประภาคารแห่งความรู้และแบบอย่างของการเป็นนักนิติศาสตร์ที่ดีให้กับวงการกฎหมายไทยอย่างต่อเนื่อง และเรามาปักหมุดกันว่าอีก 12 ปีที่คณะนิติศาสตร์จะอายุครบหนึ่งศตวรรษนั้น เราประสบความสำเร็จกับการเป็นนิติศาสตร์เวอร์ชันใหม่กันมากน้อยเพียงใด !”
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ