News And Activities

สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ & แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ

สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

คำศัพท์

Cis/cisgender (เพศสถานะสอดคล้อง) คำที่ถูกใช้ในการอธิบายบุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด ซึ่งเป็นคำที่ตรงกันข้ามกับบุคคลข้ามเพศ (trans/transgender)

Gender (เพศสภาพ) เพศที่สังคมกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เมื่อร่างกายเกิดมาเป็นหญิง หรือเกิดมาเป็นชาย โดยสังคมและวัฒนธรรมได้หล่อหลอมบทบาทหน้าที่ของความเป็นหญิงและความเป็นชายไว้แตกต่างกัน

Gender Expression (การแสดงออกทางเพศ) การที่บุคคลมีวิธีในการสื่อสารเพศสถานะ เช่น การไม่ระบุความเป็นเพศ ความเป็นชาย ความเป็นหญิง ซึ่งกระทำผ่านลักษณะทางกายภาพ เช่น เสื้อผ้า ทรงผม และการใช้เครื่องสำอาง เป็นต้น มารยาท วิธีการพูด และรูปแบบพฤติกรรมเมื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

Gender Identity (อัตลักษณ์ทางเพศ) ความรู้สึกภายในของบุคคลในการเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศสถานะอื่น ๆ หรือการมีหรือไม่มีเพศสถานะก็ได้ ซึ่งทุกคนล้วนมีอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด (sex assigned at birth)

Gender Marker (คำระบุเพศสถานะ) การที่บุคคลถูกบันทึกว่าเป็นเพศสถานะอะไรในเอกสารทางการ ในประเทศไทยถูกกำหนดให้มีผู้ชาย ผู้หญิง และยังหมายรวมถึงคำนำหน้านาม ได้แก่ นาย นาง และนางสาว

Intersex/Sex Characteristics (เพศกำกวม/ลักษณะของเพศสรีระ) บุคคลที่มีเพศกำกวมเกิดมาโดยมีลักษณะของเพศสรีระ เช่น อวัยวะเพศ ต่อมบ่งเพศ และรูปแบบโครโมโซม ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบเพศแบบขั้วตรงข้าม คือ เพศชายและเพศหญิง คำว่าเพศกำกวมจึงหมายรวมถึงความผันแปรของร่างกายในลักษณะต่าง ๆ ในบางกรณีลักษณะของเพศกำกวมจะมองเห็นได้เมื่อแรกเกิด หรืออาจไม่เห็นจนกว่าจะย่างเข้าสู่วัยรุ่น หรือบางส่วนก็ไม่แสดงให้เห็นทางกายภาพ มีเพียงโครโมโซมที่ผันแปร การเป็นเพศกำกวมจึงเกี่ยวเนื่องกับลักษณะของเพศสรีระ (sex/sex characteristics) ซึ่งอาจต่างไปจากวิถีทางเพศ (sexual orientation) หรืออัตลักษณ์ทางเพศสถานะก็ได้ บางคนอาจเป็นผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ เลสเบียน คนรักสองเพศหรือคนไม่มีเพศก็ได้เช่นกัน

Non-binary (ไม่อยู่ในระบบเพศขั้วตรงข้าม) คำที่ใช้บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งไม่ใช่เพียงความเป็นชายหรือความเป็นหญิงเท่านั้น

Sex/Sex Characteristics (เพศสรีระ) คำที่อ้างถึงลักษณะทางชีววิทยาที่ใช้แบ่งแยกคนว่าเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง

Sex assigned at birth (เพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด) เพศสรีระที่บุคคลถูกกำหนดให้เมื่อแรกเกิดหรือหลังจากเกิดได้ไม่นาน การกำหนดนี้อาจไม่ได้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศเมื่อบุคคลนั้นเติบโต คนส่วนมากมักมีอัตลักษณ์ทางเพศที่สอดคล้องไปกับเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด แต่สำหรับบุคคลข้ามเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกทางเพศมีความแตกต่างจากเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด

Sexual Orientation (วิถีทางเพศ) คำที่อ้างถึงอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความดึงดูดทางเพศลึกซึ้งใกล้ชิดรวมทั้งความสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลอื่น ซึ่งคนเราอาจดึงดูดทางเพศกับคนที่มีเพศสถานะเดียวกัน (คนรักเพศเดียวกัน/เกย์/เลสเบี้ยน) หรือคนต่างเพศสถานะ (คนรักต่างเพศ) หรืออาจมากกว่าหนึ่งเพศสถานะก็ได้เช่นกัน (คนรักสองเพศหรือรักได้ทุกเพศ)

Trans/transgender (บุคคลข้ามเพศ): คำที่ใช้อธิบายบุคคลซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด

Transgender man (ผู้ชายข้ามเพศ): คำที่ใช้อธิบายบุคคลข้ามเพศที่นิยามตนเองเป็นผู้ชาย (กล่าวคือ บุคคลที่มีเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิดเป็นเพศหญิงหรืออื่น ๆ แต่นิยามว่าตนเป็นเพศชาย)

Transgender woman (ผู้หญิงข้ามเพศ): คำที่ใช้อธิบายบุคคลข้ามเพศที่นิยามตนเองเป็นผู้หญิง (กล่าวคือ บุคคลที่มีเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิดเป็นเพศชายหรืออื่น ๆ แต่นิยามว่าตนเป็นเพศหญิง)

(ที่มา : UNDP & APTN. (2560). การรับรองเพศสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย: การทบทวนกฎหมายและนโยบาย.; กฤตยา อาชวนิจกุล. (2554). เพศวิถีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย. วารสารประชากรและสังคม, 15(1), 43-66.)

แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติ

  • ไม่คาดเดาเกี่ยวกับเพศสภาพ (gender) หรือความสัมพันธ์ของบุคคลอื่น
  • เคารพในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ถามคำถามที่เป็นการละลาบละล้วงหรือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรถามผู้อื่นหรือคาดหวังว่าผู้อื่นจะไม่ถามตนเอง เช่น การถามเกี่ยวกับสรีระร่างกาย ความสัมพันธ์ ชีวิตทางเพศ หรือการรับบริการทางการแพทย์ หากคิดว่าเป็นการเหมาะสมที่จะถามคำถามส่วนตัว ควรถามบุคคลนั้นก่อนว่าเขายินดีหรือไม่
  • อย่าคาดหมายว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนพร้อมที่จะพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ อย่าคาดหมายว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนี้ หากต้องการรู้ข้อมูลเพิ่มเติมควรทำการค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง
  • เคารพในความเป็นส่วนตัว ไม่บอกผู้อื่นเกี่ยวกับเพศสภาพ รวมถึงสถานะของการเป็นบุคคลข้ามเพศของผู้อื่น สำหรับบุคคลข้ามเพศ (transgender) เมื่อเปลี่ยนผ่าน (transition) บุคคลนั้นจะนิยามตนเองโดยเพศที่บุคคลนั้นต้องการ เช่น เป็นชาย หรือเป็นหญิง ไม่ใช่บุคคลข้ามเพศ บุคคลบางบุคคลอาจต้องการการนิยามอื่น
  • เมื่อบุคคลปรารถนาให้ผู้อื่นคิดว่าตนมีเพศสภาพใด ก็ควรคิดและปฏิบัติต่อบุคคลนั้นตามเพศสภาพดังกล่าว
  • ใช้ชื่อและสรรพนามที่บุคคลนั้นต้องการ หากไม่แน่ใจ ควรถามด้วยความสุภาพ หากใช้ถ้อยคำผิด ควรแก้ไข ขอโทษและปล่อยผ่านไป ไม่ควรทำให้เป็นเรื่องใหญ่
  • เมื่อเขียนหรือกล่าวถึงบุคคลข้ามเพศ อย่าดูถูกอัตลักษณ์ของบุคคลนั้นโดยเขียนเน้นชื่อหรือสรรพนามที่บุคคลนั้นต้องการด้วยวิธีการใด ๆ
  • ทำความเข้าใจว่าบุคคลข้ามเพศมีสิทธิที่จะใช้พื้นที่ที่เหมาะกับเพศที่บุคคลนั้นเลือก เช่น ห้องน้ำ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ทั้งในขณะและหลังการเปลี่ยนผ่าน
  • ไม่ยอมรับหรือร่วมวงนินทา ใช้คำพูดหรือพูดจาในเชิงขำขันหรือไร้มารยาท หรือเสียดสีเกี่ยวกับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ควรแสดงการไม่ยอมรับต่อคำพูดหรือพฤติกรรมที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ดูหมิ่น ตีตรา เกลียดชัง ไม่เคารพให้เกียรติด้วยเหตุอันเกิดจากความหลากหลายทางเพศ
  • ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพให้เกียรติและศักดิ์ศรีอย่างที่พึงปฏิบัติกับผู้อื่น รวมถึงอย่างที่ตนคาดหวังให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมรับคำพูดและพฤติกรรมเป็นการเลือกปฏิบัติ ดูหมิ่น ตีตรา เกลียดชัง ไม่เคารพให้เกียรติด้วยเหตุอันเกิดจากความหลากหลายทางเพศ ผู้ถูกกระทำสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความเสมอภาค อีเมล lawaudit@tu.ac.th หรือกรอกแบบฟอร์ม https://forms.gle/mcM4fDKxzqsCeDAV7

(ที่มา : แปลและดัดแปลงจาก Charles Sturt University)


15 มิถุนายน 2564


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ