Alumni
โดย คุณวริสรา ชื่นศรีสว่าง *
* อัยการจังหวัดผู้ช่วย สำนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี, นิติศาสตรบัณฑิต (รหัส 50) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,แม้ในปัจจุบันเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งเรื่องการสมรสของคู่สมรสเพศเดียวกันจะเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ แต่เรื่องดังกล่าวยังคงไม่เป็นที่ยอมรับในกฎหมายไทย แม้หลายฝ่ายจะใช้ความพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากฎหมายไทยในปัจจุบันยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคู่สมรสชายหญิงกับคู่สมรสเพศเดียวกันอยู่ และหนึ่งในความไม่เท่าเทียมดังกล่าวคือ เหตุลดโทษในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคท้าย
ก่อนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง บัญญัติองค์ประกอบความผิดในส่วนของผู้ถูกกระทำไว้อย่างชัดเจนว่า “หญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน” ต่อมา เมื่อมีการแก้ไขมาตราดังกล่าวในส่วนของผู้ถูกกระทำเป็น “ผู้อื่น” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และหลักการห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศแล้ว ทำให้การกระทำความผิดฐานดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้งการกระทำระหว่างบุคคลต่างเพศและระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน รวมทั้งอาจเป็นการกระทำระหว่างสามีภริยา ชายหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภริยา หรือแม้แต่คู่สมรสเพศเดียวกัน ดังนั้น ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาครั้งนั้น จึงมีการเพิ่มเหตุลดโทษของความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในกรณีเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ระหว่าง “คู่สมรส” หากคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา นอกจากนี้ หากการกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสที่ไม่ได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล และผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ความผิดฐานดังกล่าวยังเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 281 (1) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะใช้คำว่าคู่สมรสแทนคำว่า “สามีภริยา” ดังเช่นที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 4 และมาตรา 5 ซึ่งหมายถึง สามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งปรากฏคำว่าคู่สมรสอยู่ในหลายมาตราแล้ว เห็นว่า คำว่าคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง ชายและหญิงที่สมรสกันตามกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “คู่สมรส” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคท้าย และมาตรา 281 (1) จึงควรหมายถึง คู่สมรสตามกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่ากฎหมายจะใช้ถ้อยคำว่าอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ กฎหมายยอมรับเฉพาะคู่สมรสที่เป็นชายและหญิงเท่านั้น
แม้ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นเพียงประเด็นเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในกฎหมาย และการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับบุคคลใดก็ตาม แต่หากความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว บุคคลที่จะได้รับประโยชน์ในการลดโทษ หรือได้รับประโยชน์จากกการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความตามบทบัญญัติทั้ง 2 มาตราดังกล่าว กลับมีเพียงคู่สมรสชายหญิงเท่านั้น ทั้งที่การกระทำทุกอย่างเป็นการกระทำอย่างเดียวกัน และไม่มีความแตกต่างใดระหว่างคู่สมรสชายหญิงกับคู่สมรสเพศเดียวกัน นอกจากความแตกต่างเรื่อง “เพศ” เท่านั้น และถึงแม้จะมีผู้โต้เถียงว่าชายหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเองก็ไม่ได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่างคู่ชายหญิงดังกล่าวกับคู่สมรสเพศเดียวกัน คือ คู่ชายหญิงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนสมรสกัน เพียงแต่การจดทะเบียนสมรสอาจไม่ใช่ทางเลือกของคู่ดังกล่าว ในขณะที่คู่สมรสเพศเดียวกันไม่มีสิทธิแม้แต่จะเลือกเช่นนั้นเลย
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ