Alumni

พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 79

พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 79 จาก #TULAWInfographic

.

ความรุนแรงของสถานการณ์ในเมียนมาส่งผลให้หลายประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร สหรัฐอเมริกาเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน หนึ่งในมาตรการที่สำคัญคือการห้ามนำเข้าอัญมณีจากเมียนมานั่นเอง แต่มาตรการดังกล่าวกลับส่งผลต่อประเทศไทยมากกว่าเมียนมา

.

มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐคืออะไร? ทำไมประเทศไทยถึงได้รับผลกระทบมากกว่า #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง “ความสอดคล้องของมาตรการคว่ำบาตรบริษัทอัญมณีจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาของสหรัฐอเมริกาภายใต้พันธกรณีขององค์การการค้าโลก” ซึ่งบทความฉบับนี้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สรุปมาจากงานวิจัย เรื่อง ความสอดคล้องของมาตรการคว่ำบาตรบริษัทอัญมณีจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาของสหรัฐอเมริกาภายใต้พันธกรณีขององค์การการค้าโลก: นัยต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จารุประภา รักพงษ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เณศรา สุขพานิช

.

งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่

บทความวิจัยฉบับสมบูรณ์: https://cutt.ly/veg48irH
บทความที่เผยแพร่ในวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : https://bit.ly/4bDeTjs

.

มาตรการคว่ำบาตรเมียนมา

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่สนับสนุนให้เมียนมามีการปกครองแบบประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 1998 เกิดเหตุการณ์ “8-8-88Uprising” ที่ทหารเมียนมาได้เข้าปราบปรามกลุ่มนักศึกษา พระสงฆ์ และประชาชนชาวเมียนมาที่ได้ออกมาประท้วงให้มีการจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มกำหนดมาตรการคว่ำบาตรฯ ต่อบุคคลในรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมทั้งกิจการของรัฐและเอกชนซึ่งสร้างรายได้ต่อรัฐบาลทหาร 

.

ในเวลาต่อมาได้มีการออกข้อกำหนด “JADE Act” หรือชื่อเต็มว่า “Tom Lantos Block Burmese Junta’s Anti-Democratic Efforts Act of 2008” โดยภายใต้กฎหมายฉบับนี้ สหรัฐฯ ห้ามนำเข้าหยกและทับทิมซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในตลาดโลกซึ่งมีแหล่งที่มาหลักจากเหมืองในเมียนมาโดยเด็ดขาด เพื่อให้มาตรการของสหรัฐฯ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อแหล่งรายได้ของรัฐบาลทหารเมียนมาในที่สุด

.

มาตรการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดเริ่มต้นเมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาชุดปัจจุบันทำการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนในปี 2021 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินของกองทัพเมียนมาและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในคณะรัฐบาลทหารในสหรัฐฯ พร้อมกับดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ส่วนใหญ่คือบริษัทอัญมณีที่เจ้าของคือรัฐบาลทหารนั่นเอง

.

ผลกระทบต่อประเทศไทย

จากมุมมองของผู้ประกอบการไทย แม้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ไม่ได้ห้ามนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุดิบจากเหมืองในเมียนมาเข้าสู่ตลาดของสหรัฐฯ โดยตรง แต่ในทางปฏิบัติการปรับใช้มาตรการดังกล่าวย่อมกระทบต่อสถานภาพการแข่งขันของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีการผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับที่มีแหล่งกำเนิดเดิมจากเหมืองในเมียนมา โดยผู้ประกอบการได้นำวัตถุดิบจากเมียนมาเข้ามายังประเทศไทยในรูปแบบของก้อนพลอยและหินมีค่าดิบ ซึ่งมีการดำเนินการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบและสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ก่อนที่สหรัฐฯ จะมีมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาครั้งล่าสุด

.

เมื่อสหรัฐฯ ปรับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเคร่งครัด สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีส่วนประกอบจากพลอยหรือหินมีค่าต่าง ๆ ซึ่งส่งออกจากฐานการผลิตในไทยไปยังสหรัฐฯ ย่อมต้องเผชิญอุปสรรคทางการค้าโดยมีภาระในการต้องพิสูจน์เพิ่มเติมว่า สินค้าดังกล่าวไม่ได้ผลิตจากวัตถุดิบในการผลิตซึ่งนำเข้ามาจากเหมืองในเมียนมา คณะบุคคลและองค์กรตามที่ปรากฏในนามการคว่ำบาตรของสหรัฐซึ่งอาจเป็น กิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาร์ในชุดปัจจุบันได้

.

หรืออีกในกรณีหนึ่ง หากผลิตภัณฑ์จากไทยมีการใช้วัตถุดิบจากเหมืองในเมียนมา ผู้ประกอบการไทยจะมีภาระในการต้องดำเนินการพิสูจน์เพิ่มเติมด้วยว่า พลอยหรือหินมีค่าที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นแม้จะมีการขุดจากเหมืองในเมียนมา แต่ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับบุคคล คณะบุคคลและองค์กรตามที่ปรากฏในรายนามการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ 

.

3 ปัญหาที่เกิดขึ้น

ผลกระทบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ในประเทศไทย 3 ข้อ คือ

.

  1. มาตรการในการพิสูจน์

หากประเทศไทยจะต้องดำเนินการในการพิสูจน์ มาตรการในการพิสูจน์ทั้ง 2 รูปแบบดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันที่อ้างอิงโดยวิทยาศาสตร์นั้นยังสามารถพิสูจน์ได้เพียงแค่ว่า อัญมณีมีแหล่งที่มามาจากที่ใด ประเทศไหน เพียงเท่านั้นยังไม่สามารถพิสูจน์ไปถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ อาทิ ช่วงเวลาได้นำเข้าวัตถุดิบจากเมียนมาร์มายังประเทศไทย

.

  1. ขาดหน่วยงานในการรับรอง

ผู้นำเข้าอัญมณีในสหรัฐฯ มักกำหนดรายชื่อของหน่วยงานในไทยที่ให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทยดำเนินการพิสูจน์ออกใบรับรองแหล่งที่มาเป็นครั้งคราวไป ซึ่งในประเทศไทยมีหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบพลอยและหินมีค่าแบบระบุแหล่งที่มาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯอยู่ไม่มากนัก เพราะหน่วยงานที่ดำเนินการพิสูจน์จำเป็นต้องมีห้องทดลอง และเครื่องมือทางฟิสิกส์ระดับสูง ทั้งยังมีค่ารับรองเริ่มต้นสูงถึง 2,000 บาทต่อเม็ดอีกด้วย

.

  1. อัญมณีเมียนมาตกค้าง

จากการศึกษาพบว่า ยังมีอัญมณีพม่าที่ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยเมื่อประมาณ 10-30 ปีที่ผ่านมาตกค้างอยู่ในการครอบครองเป็นจำนวนมาก และนอกจากนั้นในการค้าพลอยยังคงมีการจำหน่าย “พลอยล็อต” หรือ “พลอยถุง” ซึ่งเป็นการรวมพลอยประเภทเดียวกัน มีคุณภาพและขนาดเทียบเท่ากันเพื่อจำหน่ายรวมกันเป็นล็อตไว้ โดยไม่ได้คำนึงถึงแหล่งที่มา ซึ่งในแต่ละถุงหรือล็อตมีแนวโน้มที่จะประกอบด้วยพลอยดิบจากเมียนมาปะปนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก

.

ความสอดคล้องกับ GATT

ประเด็นที่สำคัญคือ สหรัฐฯ ในฐานะสมาชิกของ WTO ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (The General Agreement on Tariff and Trade – GATT) ซึ่งพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ได้แก่ การไม่เลือกประติบัติ (non-discrimination) ระหว่างสินค้านำเข้าที่เหมือนกัน (like products) ที่นำเข้ามาจากประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ภายใต้หลัก ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-favoured Nation Principle หรือหลัก MFN) จึงเป็นประเด็นต่อมาว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯนั้นถือว่าขัดแย้งกับ GATT หรือไม่

.

มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ นั้นมีแนวโน้มที่จะขัดต่อพันธกรณีภายใต้ความตกลง GATT เพราะเป็นการเลือกประติบัติที่ขัดกับหลักการ “ชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง” ในกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนำเข้าจากเมียนมา ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินค้าเดียวกันกับอัญมนีที่นำเข้าจากประเทศอื่น ๆ และมีผลเป็นการจำกัดปริมาณสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทยซึ่งอาจมีการผลิตจากวัตถุดิบที่ขุดพบจากเหมืองในเมียนมา 

.

นอกจากนี้แม้สหรัฐฯ จะไม่สามารถใช้ข้อยกเว้นทั่วไปภายใต้มาตรา XX (a) ของความตกลง GATT ซึ่งอนุญาตให้สมาชิก WTO สามารถดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องศีลธรรมสาธารณะได้ เพราะมาตรการคว่ำบาตรสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างแอบแฝง ซึ่งขัดกับเงื่อนไขในการปรับใช้ข้อยกเว้นทั่วไปภายใต้วรรค “ชาโป” บทนำมาตรา XX ของความตกลง GATT แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังสามารถอ้างได้ว่า มาตรการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นข้อยกเว้นด้านความมั่นคงของชาติภายใต้มาตรา XXI (b) (ii) และ (iii) ซึ่งทำให้สหรัฐสามารถดำเนินมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวต่อไปได้ 

.

ข้อเสนอแนะ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกับประเด็นเรื่องความสอดคล้องต่อพันธกรณีที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เขียนได้มีคำแนะนำเบื้องต้น 3 ข้อสำหรับผู้ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และรัฐบาลไทย 3 ข้อคือ

.

– รัฐบาลไทยควรชี้แจงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ 

โดยชี้แจงให้เห็นถึงข้อจำกัดของการปรับใช้มาตรการคว่ำบาตรในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่รับนำอัญมณีมาจากเมียนมาเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ในขณะที่มาตรการดังกล่าวอาจไม่ก่อให้เกิดผล กระทบต่อธุรกิจอัญมณีซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทหารเมียนมาได้เท่าที่ควร 

.

รวมทั้งชี้แจงเรื่องมาตรการในการตรวจสอบแหล่งที่มาของอัญมณีที่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และยังอาจเป็นโอกาสให้เกิดกระบวนการที่ไม่โปร่งใสในอนาคตได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องแสดงออกถึงการสนับสนุนจุดยืนของสหรัฐอเมริกาและจะสนับสนุนให้มาตรการคว่ำบาตรเป็นไปตามวัตถุประสงค์ 

.

โดยรัฐบาลไทยอาจพิจารณาเพิ่มมาตรการ “คัดกรอง” สุ่มตรวจสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเฉพาะจากผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ ว่ามีแหล่งที่มาเดิมจากเมียนมาหรือไม่ และอาจมีมาตรการออกใบรับรองให้แก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติในการรายงานแหล่งที่มาของสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องร่วมด้วย

.

– เลี่ยงการใช้พลอยที่มาจากเมียนมาในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ

ผู้ประกอบการไทยควรหารือกับผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ให้ชัดเจนว่า สินค้าที่จะส่งออกไปทั้งหมดจะไม่มีการใช้พลอยหรือหินมีค่าที่มีแหล่งที่มาจากเมียนมา เว้นแต่จะมีการร้องขอหรือยืนยันถึงความต้องการให้ใช้จากผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ซึ่งหากเป็นกรณี ดังกล่าวผู้นำเข้าจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองแหล่งที่มาเอง 

.

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรเสนอทางเลือกให้แก่ผู้นำเข้าว่า ในกลุ่มสินค้าประเภทพลอยล็อตและเครื่องประดับตัวเรือนเงินที่ราคาไม่สูงในปัจจุบันมีตัวเลือกเป็นพลอยหรือหินมีค่าจากเหมืองในประเทศอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับพลอยหรือหินมีค่าจากเมียนมาที่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับในปลายทาง

.

– การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับพลอยที่มีมูลค่าสูงจากเมียนมา

สำหรับพลอยหรือหินมีค่าจากเมียนมาที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง และมีความ “คุ้มทุน”ในการดำเนินการ ผู้ประกอบการไทยยังมีทางเลือกในการนำไปออกใบรับรองว่าเป็นพลอยแท้ และ/หรือนำไปออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งในการออกใบรับรองทั้งสองประเภทมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าในการออกใบรับรองพลอยแบบระบุแหล่งที่มาค่อนข้างมาก 

.

ใบรับรองทั้งสองประเภทจะมีการระบุวันที่มีการออกใบรับรองไว้ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำใบรับรองทั้งสองประเภทไปใช้อ้างอิงเพื่อยืนยันแก่คู่ค้าในสหรัฐฯ ได้ว่า พลอยหรือหินมีค่าเม็ดดังกล่าวที่แม้ดั้งเดิมอาจมีการค้นพบจากเหมืองในเมียนมาได้ผ่านการครอบครองอยู่ในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั่นเอง

.

ที่มา: จารุประภา รักพงษ์, ‘ความสอดคล้องของมาตรการคว่ำบาตรบริษัทอัญมณีจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาของสหรัฐอเมริกาภายใต้พันธกรณีขององค์การการค้าโลก’ (2567) 53(2) วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 440.


12 กรกฎาคม 2567


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ