Alumni
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปรับและนำเอาเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) มาต่อยอดเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันได้แก่
“การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน
(Best Sustainable and Smart University)”
โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ทันสมัย สร้างความสมดุลและยั่งยืนให้กับสังคม อีกทั้งยังให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม โดยได้พัฒนาพื้นที่และนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ มาคอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้คนในบริเวณภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นรถกอล์ฟไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกแก่บุคลากรภายในศูนย์ท่าพระจันทร์ บ่อบำบัดน้ำเสียและรถไฟฟ้า Car Sharing ให้บริการผู้คนภายในศูนย์รังสิตสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วมายิ่งขึ้น พื้นที่สีเขียวอย่างสวนมะม่วง 85 ปีธรรมศาสตร์ และนวัตกรรมผลิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแผงโซลาร์เซลล์จากศูนย์ลำปาง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยังคงมุ่งมั่นและพัฒนาการบริหารจัดการ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย และที่สำคัญยังคงให้ความสำคัญสูงสุดกับการให้บริการทางวิชาการแก่นักศึกษาและบุคลากรอย่างต่อเนื่องเสมอมา และอย่างที่ทราบกันดีเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ ทั้งหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Library) ต้องปิดพื้นที่ให้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยและสามารถให้บริการทางวิชาการอย่างไม่มีสะดุด หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเปิดให้บริการยืมหนังสือผ่านบริการ TULIB Delivery จัดส่งหนังสือถึงมือผู้ยืม
การให้บริการยืมหนังสือผ่านบริการ TULIB Delivery จำเป็นต้องมีระบบการขนส่งที่ดีเพื่อสามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเกิดไอเดียที่ดีที่จะนำ “รถกอล์ฟไฟฟ้า” ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็ก 4 ล้อ 3 ที่นั่ง มาใช้ในการเคลื่อนย้ายขนส่งหนังสือแก่นักศึกษาผู้ยืม รวมถึงให้เจ้าหน้าที่หอสมุดนำใช้รถกอล์ฟไฟฟ้าในการอำนวยความสะดวกในการทำงานด้านอื่น ๆ ด้วย นอกจากจะตอบโจทย์ในลักษณะงานของหอสมุดฯ ได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังถือเป็นเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงานและลดมลพิษภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายการพัฒนาสู่ Thammasat Smart City โดยนำระบบเทคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด เปิดบริการ “อีวีคาร์แชริ่ง (EV car sharing)” บนแอปพลิเคชัน HAUP ซึ่งรถยนต์ที่ให้เช่านั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่นยี่ห้อ FOMM ไซส์เอส นั่งได้ 4 คน ที่สำคัญราคาเช่าสบายกระเป๋ามาก เริ่มต้น 3 ชม. 147 บาท (ชั่วโมงต่อไปชั่วโมงละ 49 บาท) เท่านั้น และยังสามารถขับไปข้างนอกมหาวิทยาลัยได้ด้วย (มีคนลองขับไปอยุธยามาแล้วนะ) ไม่เชื่อต้องมาลอง
ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากร หรือบุคคลภายนอกก็สามารถมาใช้บริการได้ง่าย ๆ แค่เพียงลงทะเบียน ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน HAUP แล้วลงทะเบียนพร้อมส่งเอกสารบนแอปพลิเคชัน จากนั้นรอประมาณ 1 ชั่วโมงในการตรวจสอบข้อมูล เมื่อได้รับการยืนยันแล้ว สามารถจองและใช้งานได้ทันที ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้ามีให้บริการทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ยังมี “การบำบัดน้ำเสีย” โดยได้กำหนดพื้นที่ที่ต้องการบำบัดน้ำ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ หอพัก และส่วนกลางของมหาวิทยาลัย
ซึ่งระบบการบำบัดโดยโรงบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานมีการควบคุมตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอก่อนปล่อยระบายออกสู่ระบบคูคลองซึ่งใช้วิธีการตามธรรมชาติในการจัดการน้ำเสีย ซึ่งลดภาระของระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้เครื่องจักรกล สารเคมี อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่ทดลอง ศึกษาวิจัย สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นพื้นที่สันทนาการ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาคมธรรมศาสตร์และบุคคลทั่วไป ที่สำคัญยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่มหาวิทยาลัย
หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางนั้น ได้มีการผลักดันนโยบายส่งเสริมด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับศูนย์อื่น ๆ เช่นกัน ซึ่งบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางมีพื้นที่สีเขียว รวมถึงการนวัตกรรมพลังงานทดแทนซึ่งพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในมหาวิทยาลัยและถือเป็นการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าไปในตัวอีกด้วย นำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
ในฤดูฝนแบบนี้ความชุ่มฉ่ำของสายฝนประกอบเข้ากับความเขียวชอุ่มของธรรมชาติรังสรรค์มาเป็นพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยของเรา ได้แก่ “สวนมะม่วง 85 ปีธรรมศาสตร์” เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว
โดยนักศึกษาสามารถติดต่อฝ่ายกิจการนักศึกษาเพื่อทำการขอพืชผลต่าง ๆ ไปประกอบอาหารได้อีกด้วย ซึ่งในการประกอบอาหารนั้น ทางหอพักนักศึกษายังมีห้องครัวที่มีอุปกรณ์พร้อมสรรพ พร้อมให้นักศึกษานำวัตถุดิบมารังสรรค์เมนูต่าง ๆ เรียกได้ว่าทั้งประหยัดทั้งอิ่มเลยทีเดียว นอกจากเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ Green Space ไว้สำหรับให้นักศึกษาได้พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงนั่งอ่านหนังสืออีกด้วย
หลังจากที่รับชมพื้นที่สีเขียวไปแล้ว ที่ศูนย์แห่งนี้ยังการพัฒนาในด้านของการใช้พลังงานจากธรรมชาติเพื่อลดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น เพื่อเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมในอนาคตอีกด้วย โดยในศูนย์ลำปางของเรานี้ บริเวณหลังคาของทุกอาคาร บ้านพักอาจารย์ ไม่เว้นแม้แต่โรงจอดรถ เราได้ทำการติดตั้ง “แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)” เพื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นมาแปรเป็นพลังงานไฟที่เปิด-ปิดให้ความสว่างไสวทั่วมหาวิทยาลัยในยามค่ำคืน รวมถึงนำไปประยุกต์เป็นพลังงานให้เครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากสวนมะม่วงของเราด้วย เป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้พัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยอย่างบูรณาการ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน
เราได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแต่ละศูนย์ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมถึงการนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ภายในมหาวิทยาลัยไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ของทุกคน จึงขอเชิญชวนทุก ๆ ท่านให้มาร่วมกันดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราอย่างจริงจัง ไม่ว่าสีเขียวของภูเขา หรือสีฟ้าของท้องทะเล ธรรมชาติที่ปราศจากการตกแต่งนั้นสวยที่สุดแล้ว
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ