Alumni

โจทย์ที่ยากในการทำคดีสิ่งแวดล้อมกลับมิใช่การใช้ระเบียบหรือหลักกฎหมาย

คุณภูดิท โทณผลิน 

         การใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของการจัดการปัญหาทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขั้นตอนการดำเนินคดี ในกระบวนการดำเนินคดีทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมมี 3 ขั้นตอนหลักที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาพิสูจน์และส่งผลสำคัญต่อผลการวินิจฉัย คือ หนึ่งขั้นตอนการเก็บข้อมูล สองขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล และสามขั้นตอนการเรียบเรียงและนำเสนอต่อศาล

          ในการทำคดีสิ่งแวดล้อม โจทย์ที่ยากกลับมิใช่การใช้ระเบียบหรือหลักกฎหมาย แต่เป็นการอธิบายและนำเสนอองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ศาลซึ่งเป็นผู้ตัดสินมีความเข้าใจและใช้ดุลยพินิจในการพิพากษาคดีโดยมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้เสียหายได้ทำการยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่ง มักมีปัญหาในประเด็นข้อเท็จจริงสำคัญที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีว่า จำเลยต้องรับผิดหรือไม่และจำเลยต้องรับผิดเพียงใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแต่ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยอธิบาย ยกตัวอย่างเช่น ข้อเท็จจริงประเด็นหลักที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษในคดีสิ่งแวดล้อมมักใช้เป็นข้อต่อสู้ในคดี อาทิ การอ้างว่าเป็นสารพิษหรือสารเคมีที่เกิดจากการทำการเกษตรของผู้เสียหายเอง อ้างว่าเป็นสารเคมีหรือสารพิษที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งอ้างว่าเป็นสารเคมีหรือสารพิษที่เกิดจากแหล่งก่อมลพิษอื่น มิได้เกิดจากการประกอบกิจการของจำเลยก็ตาม เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่นักกฎหมายมักไม่ทราบและมิใช่ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป

 

คุณภูดิท  โทณผลิน  อนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ พ.ศ. 2562-2565 (สภาทนายความฯ), กรรมการและทนายความสมาคม
นักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม (LEPA), อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี, คอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์แนวหน้า “คลินิกสิ่งแวดล้อม”, น.ม. (สาขากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัส 61)

 

          ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ นักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทนายความหรือผู้พิพากษาควรมีความเข้าใจในองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของคดี อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเคมีประเภทต่าง ๆว่ามีหลักการอย่างไร เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่สารพิษหรือสารเคมีที่ตรวจพบในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะไม่ตรงกับรายการนำเข้าหรือครอบครองของผู้ก่อมลพิษ ความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการไหลของทิศทางน้ำ ทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน เนื่องจากการไหลของน้ำใต้ดิน จะไหลจากที่มีความดันสูงไปยังที่ความดันต่ำซึ่งแตกต่างกับทิศทางไหลของน้ำผิวดินที่ไหลจากที่สูงไปยังที่ต่ำ อันจะส่งผลดีต่อข้อเท็จจริงในคดีที่เกี่ยวกับทิศทางการแพร่กระจายของสารเคมีหรือสารพิษ หากนักกฎหมายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่เข้าใจหลักดังกล่าวย่อมส่งผลให้คำพิพากษาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

 

 

              นอกจากนักกฎหมายที่มีส่วนสำคัญในคดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็ถือเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการอธิบายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ข้างต้นให้นักกฎหมายในคดีเข้าใจ โดยอาศัยทนายความเป็นสื่อกลางในการสื่อสารข้อเท็จจริง ดังนั้น ทนายความทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยควรจะมีความเข้าใจหลักพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในคดีให้มากที่สุด เนื่องจากในการนำสืบ ถามค้าน ถามติง รวมทั้งการขออนุญาตศาลถาม ทนายความล้วนมีส่วนสำคัญให้ได้ข้อเท็จจริงที่กระชับและเป็นประโยชน์เข้าสู่สำนวน โดยเฉพาะการตั้งคำถามในคดี ที่ควรถามพยานผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่ออธิบายประเด็นสำคัญต่อศาล อาทิ การสอบถามประวัติการศึกษาและการทำงานของพยาน การสอบถามเกี่ยวกับการตรวจสอบว่าพบสารอะไร การสอบถามว่าสารที่พบมีอันตรายอย่างไร การสอบถามว่าสารที่พบนั้นมีที่มาหรือแพร่กระจายมาจากแหล่งใด มีทิศทางการแพร่กระจายอย่างไร โดยเฉพาะคำถามเพื่อที่จะให้ได้ข้อเท็จจริงสำคัญทางวิทยาศาสตร์คือ การสอบถามให้ได้ข้อเท็จจริงว่าสารที่ตรวจพบนั้นสามารถเปลี่ยนสภาพได้หรือไม่ อย่างไร เปลี่ยนจากสารใดไปเป็นสารใด รวมถึงการให้พยานอธิบายเกี่ยวกับสารที่ตรวจพบนั้นตามหลักวิชาการว่าเป็นสารที่เกิดจากการประกอบกิจการของจำเลย เป็นสารที่มีอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณนั้น หรือเป็นสารที่เกิดจากเคมีที่เกิดจากการทำการเกษตรหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อเท็จจริงสำคัญในคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถวินิจฉัยได้ว่าจำเลยต้องรับผิดหรือไม่ และหากจำเลยต้องรับผิดแล้ว ควรกำหนดค่าเสียหายเพียงใดอันจะทำให้คำพิพากษาในคดีสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับความเสียหายจริง

 

"ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า พยานสำคัญดังกล่าวซึ่งมีรายชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นทะเบียนไว้ต่อสำนักงานศาลยุติธรรมนั้น ปัจจุบันมีรายชื่อเพียง 4 ราย ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น รวมทั้งเมื่อเทียบกับจำนวนข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นสู่ศาล"

 

          ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่า ถือเป็นสิ่งสำคัญในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามข้อที่ 13-15 ตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรทางทะเล รวมถึงการปกป้อง ฟื้นฟูและการใช้ทรัพยากรทางบก เนื่องจากปัญหาในคดีสิ่งแวดล้อมนั้น มิใช่สิ่งที่กระทบกับคู่ความเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบวงกว้างแก่ทรัพยากร สุขภาพ รวมถึงความเสียหายอื่นที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน การดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีความเข้าใจในหลักการความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ อาจทำให้ผลคดีไม่มีประสิทธิภาพไม่สอดคล้องกับความเสียหายจริง ซึ่งผลของคดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นมาตรการที่จะมีทั้งส่วนป้องกันทางอ้อมกล่าวคือ มูลค่าของค่าเสียหายตามคำพิพากษาซึ่งเป็นยอดเงินที่สูงถึงขั้นทำให้กิจการขาดทุนหรือล้มละลายซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการรายอื่นระมัดระวังในการประกอบกิจการที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนช่วยโดยตรงในการเยียวยาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปในคดีนั้น


28 กันยายน 2564


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ