News And Activities

World Oceans Day, Seaspiracy, and Thailand

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย

 

ในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลเกินขีดจำกัดและกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ในวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันมหาสมุทรโลก” (World Oceans Day)[1] เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรและมนุษย์ รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทะเลและมหาสมุทรที่มีต่อชีวิตมนุษย์ และแนวทางที่มนุษย์จะร่วมกันคุ้มครองและสงวนรักษาทะเลและมหาสมุทร เมื่อไม่นานมานี้ ภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง “Seaspiracy” ได้จุดประเด็นความสนใจเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัญหาที่ปรากฎในภาพยนตร์ดังกล่าว ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการอนุวัติการกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าว และโอกาสวันมหาสมุทรโลกในปีนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจจากภาพยนตร์เรื่อง “Seaspiracy” ที่ต้องช่วยกันแก้ไข เพื่อประโยชน์ของการคุ้มครองและสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยดังต่อไปนี้

หากท่านผู้อ่านได้ติดตามภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของการคุ้มครองและสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลในปัจจุบันคือ ปัญหาขยะทะเล เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันในทางวิชาการแล้วว่าปัญหาขยะทะเลแม้จะมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่หลากหลาย แต่แหล่งกำเนิดมลพิษที่ใหญ่ที่สุดของขยะทะเลคือแหล่งกำเนิดมลพิษจากบนบก (Land-based pollution) ซึ่งร้อยละ 80 ของขยะทะเลจากแหล่งกำเนิดดังกล่าวเป็นขยะพลาสติก ตามอนุสัญญากฎหมายทะเลฯ[2] ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยการป้องกัน ลด และควบคุมภาวะมลพิษทางทะเลที่มีแหล่งกำเนิดบนบกรวมถึงขยะพลาสติกด้วย[3] โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและแก้ไขข้อกล่าวหาที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ก่อมลพิษประเภทขยะพลาสติกในทะเล
รายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 สังคมไทยมีการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ ส่งผลต่อปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เรื่องการจัดการขยะพลาสติกเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลจึงยังคงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสและก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้หรือไม่

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวข้องกับขยะทะเลด้วยคือปัญหาเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งหรือสูญหายในทะเล (abandoned lost and discarded fishing gears: ALDFGs) ในเรื่องนี้ เครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งหรือสูญหายในทะเลก่อให้เกิด “การทำประมงผี (ghost fishing)” ที่ปรากฏออกมาให้พบเห็นในรูปแบบของสัตว์ทะเลหายากต่าง ๆ ต้องได้รับอันตรายจากเครื่องมือเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเลที่ติดอวน หรือฉลามวาฬที่มีเชือกขนาดใหญ่คล้องพันตัวอยู่

โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2009 ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและการดำเนินการที่สามารถกระทำได้ในอนาคตเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว[4] ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีรายงานข่าวอวนขนาดใหญ่คลุมปะการังและสิ่งมีชีวิตบริเวณเกาะโลซินและอาจสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวด้วย[5] ในกรณีเช่นนี้อนุสัญญากฎหมายทะเลฯ กำหนดให้ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิ่งมีชีวิตในทะเลที่เป็นชนิดพันธุ์หายาก ถูกคุมคาม และตกอยู่ในอันตรายด้วย[6] กรณีเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งหรือสูญหายในทะเลจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่าติดตามว่าประเทศไทยจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ระบบกฎหมายประมงของประเทศได้อย่างไร

 

[1] United Nations General Assembly Resolution No. 63/111 UN Doc A/RES/63/111 (12 February 2009), para 171.

[2] UNEP, ‘Global Programme of Action for the Protection of the Marine Environment from Land-based Activities’, UNEP(OCA)/LBA/IG.2/7 (5 December 1995) para 142.

[3] อนุสัญญากฎหมายทะเลฯ ข้อ 192, 194 และ 207

[4] Macfadyen, G.; Huntington, T.; Cappell, R. Abandoned, lost or otherwise discarded fishing gear. UNEP Regional Seas Reports and Studies, No. 185; FAO Fisheries and Aquaculture Technical Paper, No. 523. Rome, UNEP/FAO. 2009.

[5] มติชนออนไลน์ ‘ทช. ประชุมด่วน กู้วิกฤตอวนคลุมปะการังเกาะโลซิน’ https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2779779  <17 มิถุนายน พ.ศ. 2564>

[6] อนุสัญญากฎหมายทะเลฯ ข้อ 192, 194 (5)

 

(ภาพเกาะโลซิน ขอบคุณภาพจากเพจ “IMAN Camera”)

 

ปัญหาทั้งสองกรณีข้างต้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีหากประเทศไทยสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ประเทศไทยเข้าใกล้ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 ว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนได้อย่างก้าวกระโดด[1] ประเด็นที่ได้กล่าวไปในข้างต้นจึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ติดตามและช่วยกันผลักดันให้สิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยได้รับการดูแลและมีคุณภาพที่ดีคู่คนไทยตลอดไป ในฉบับหน้าผู้เขียนจะมาขอนำเสนอในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจจากภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง “Seaspiracy” ต่อไปครับ

 

 

[1] United Nations General Assembly Resolution No. 70/1 UN Doc A/RES/70/1 (21 October 2015), Goal 14.


08 กันยายน 2564


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ