Alumni

ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล และผู้แทน

ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล และผู้แทน

โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

“นิติบุคคล” เกิดมีขึ้นในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยแต่เดิมเรียกว่า “บุคคลนิติสมมุติ” ซึ่ง   นิติบุคคลเหล่านี้มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาดั่งที่ปัจจุบันบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติบุคคลจึงมีความรับผิดในทางแพ่งทั้งหลายเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคถัดมาก็คือ แล้วนิติบุคคลจะต้องมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาหรือไม่อย่างไร?

หากสำรวจดูกฎหมายไทยแล้วก็ไม่พบบทบัญญัติใด ๆ ที่วางหลักว่านิติบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างใด หรือไม่พบบทบัญญัติทำนองเดียวกับที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วางหลักให้บุคคลธรรมดาจะต้องรับผิดทางอาญาภายใต้หลักเกณฑ์เช่นใด แม้จะมีนักกฎหมายบางท่านอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ที่ว่า

“ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี”

มาตราดังกล่าวจึงหมายความว่า ต้องมีกฎหมายบัญญัติให้นิติบุคคลต้องรับผิดไว้แล้วเช่น ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ได้กำหนดความผิดอันเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 และได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และปัจจุบันกลายเป็น “พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499”) จึงจะสามารถดำเนินคดีอาญากับนิติบุคคลได้เป็นต้น และในปัจจุบันนี้ก็มีบทบัญญัติจำนวนหนึ่งที่บัญญัติถึงความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลเช่น พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 200  บัญญัติว่า “บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 61 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 96 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท” เป็นต้น

แต่ปัญหายังคงอยู่ที่ว่า แล้ว “นิติบุคคล” จะต้องรับผิดภายใต้หลักเกณฑ์เช่นใด ยังไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายที่ชัดเจนจนกระทั่งปัจจุบัน

แต่ทางปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กลับมีการดำเนินคดีโดยการฟ้องร้องนิติบุคคลให้ต้องรับผิดทางอาญาโดยอาศัยหลักที่ว่า “ผู้แทนนิติบุคคล” เป็นผู้ดำเนินการแทนตัวนิติบุคคลซึ่งอาศัยหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสองที่ว่า “ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล” เพื่อให้เป็นการกระทำและเจตนาในทางอาญาของนิติบุคคล ดังที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787-788/2506 วินิจฉัยว่า

เจตนาของนิติบุคคลย่อมแสดงออกทางผู้แทนของนิติบุคคลเมื่อผู้แทนของนิติบุคคลแสดงเจตนาซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้แทนในทางการของการดำเนินกิจการตามวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลเจตนานั้นก็ผูกพันนิติบุคคล และต้องถือว่าเป็นเจตนาของนิติบุคคลนั้นเอง ฉะนั้น นิติบุคคลจึงอาจมีเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญาและกระทำความผิดซึ่งผู้กระทำต้องมีเจตนารวมทั้งต้องรับโทษทางอาญาเท่าที่ลักษณะแห่งโทษเปิดช่องให้ลงแก่นิติบุคคลได้ ซึ่งต้องพิจารณาตามลักษณะความผิดพฤติการณ์แห่งการกระทำและอำนาจหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคลประกอบกับวัตถุที่ประสงค์ของนิติบุคคลเป็นราย ๆ ไป

การที่ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นโดยกระทำไปในอำนาจหน้าที่ทางการค้าอันเป็นวัตถุที่ประสงค์และเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของห้างหุ้นส่วนถือได้ว่าเป็นเจตนาและการกระทำของห้างหุ้นส่วน ฉะนั้น ห้างหุ้นส่วนจึงต้องรับผิดทางอาญาด้วย (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2506)”

นอกจากนั้นศาลฎีกายังเคยวินิจฉัยให้ “นิติบุคคล” ต้องรับผิดในทางอาญาฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อีกด้วยในคดีสยามแก๊สตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3446/2537 ซึ่งมีประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญ เช่น นิติบุคคลจะ “กระทำโดยประมาท” ได้หรือไม่? ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งกำหนดความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีระวางโทษ“ทั้งจำคุกและปรับ” แล้วเราจะลงโทษจำคุกนิติบุคคลได้อย่างไร แต่แม้จะมีปัญหาด้านกฎหมาย ศาลฎีกาก็ยังตัดสินลงโทษนิติบุคคลในความผิดฐานเดียวกันแก่นิติบุคคลในคดีซานติก้าตามคำพิพากษาคดีอาญาที่ 8568 - 8566/2558  ทั้งยังให้เหตุผลว่า เมื่อผู้แทนนิติบุคคลประมาทแล้ว ความประมาทนั้นย่อมเป็นประมาทของนิติบุคคลด้วย

สำหรับความรับผิดทางอาญาของ “ผู้แทนนิติบุคคล” ที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลแล้วกลับมีกฎหมายจำนวนมากบัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้ “ผู้แทนนิติบุคคล” มีความรับผิดทางอาญาร่วมกับตัวนิติบุคคลเช่น พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ว่า มาตรา 54 ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะบัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” เป็นต้น

ซึ่งต่อมาได้มีการออก “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560”  เป็นผลให้บุคคลที่อยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการ  ผู้จัดการ  หรือบุคคลใดซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลภายใต้บทกฎหมายจำนวน 76 ฉบับได้รับการแก้ไขในส่วนของความรับผิดทางอาญาให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลเพียงเพราะสถานะที่ตนดำรงอยู่ในนิติบุคคลนั้นอีกต่อไป 

ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ได้มีการยกขึ้นมาศึกษาจนกระทั่งนำไปสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการกำหนดโทษของนิติบุคคลให้เหมาะสมและแตกต่างโทษของบุคคลธรรมดาในกรณีความผิดเดียวกัน โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามอบหมายให้ “คณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา” ดำเนินการเป็นผลให้มีการเสนอปรับปรุงบทบัญญัติต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาเป็น “ร่าง” ดังนี้

มาตรา 18/1  โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ ปรับและริบทรัพย์สิน

หากไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษสำหรับนิติบุคคลไว้โดยเฉพาะ ให้ลงโทษนิติบุคคลนั้นโดยใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีความผิดที่มีแต่โทษจำคุกหรือประหารชีวิต ให้เปลี่ยนโทษจำคุกหรือประหารชีวิตเป็นโทษปรับไม่เกินห้าล้านบาท

(2) ในกรณีความผิดที่มีโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกหรือไม่ก็ตาม ให้ปรับได้สถานเดียวโดยไม่เกินห้าเท่าของระวางโทษปรับที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 18/2  เมื่อศาลพิพากษาลงโทษนิติบุคคลตามมาตรา 18/1 วรรคสอง และศาลได้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์และการกระทำของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีคำขอ หรือไม่ ศาลอาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามควรแก่กรณีดังต่อไปนี้ได้

(1)  ให้เลิกนิติบุคคลสำหรับความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป

(2)  ปิดสถานประกอบการซึ่งใช้กระทำความผิดเป็นระยะเวลาไม่เกินห้าปีหรือเป็นการถาวร

(3)  ห้ามระดมทุนจากประชาชนทั่วไปเป็นระยะเวลาไม่เกินห้าปีหรือเป็นการถาวร

(4)  ห้ามเข้าประมูลงานหรือรับสัมปทานของรัฐหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐเป็นระยะเวลาไม่เกินห้าปีหรือเป็นการถาวร

(5) ให้ประกาศหรือเผยแพร่คำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วนในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์จำหน่ายเป็นการทั่วไปหรือในท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนิติบุคคลนั้น หรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนทราบมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สามวัน โดยให้นิติบุคคลนั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายก็ได้

(6) ห้ามประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ได้กระทำไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อมเป็นระยะเวลาไม่เกินห้าปีหรือเป็นการถาวรเมื่อศาลมีคำสั่งประการใดตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว

มาตรา 59/1 นิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทน
นิติบุคคลได้กระทำการภายในขอบวัตถุประสงค์ ตามอำนาจหน้าที่ และเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น

นิติบุคคลซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐไม่ว่าในรูปแบบอื่นใด แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องรับผิดทางอาญา เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

นิติบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ ไม่ทำให้บุคคลซึ่งกระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลนั้นพ้นความรับผิด

มาตรา 196/1 นิติบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลซึ่งสั่งไว้ในคำพิพากษาตามมาตรา 18/2 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง นิติบุคคลที่กระทำความผิดได้รับหรือพึงได้รับผลประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลนั้น ให้ปรับไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่นิติบุคคลได้รับหรือพึงได้รับไว้ ทั้งนี้ ให้ปรับไม่ต่ำกว่าโทษขั้นต่ำตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งของนิติบุคคลเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการ จนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ปัญหาความรับผิดทางอาญาของ “นิติบุคคล และผู้แทน” จะพัฒนาไปทางใดคงต้องติดตามกันต่อไป


07 กันยายน 2565


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ