Alumni

การยกเลิกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านในการติดต่อราชการ

โดย คุณภัทรพร เรืองฤทธิ์

นิติกรปฏิบัติการ ที่ทำการปกครองจังหวัดน่าน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัส 52), เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตสภา, นิติศาสตรมหาบัณฑิต (สาขากฎหมายอาญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัส 61)

 

 

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 กรมการปกครองได้มีประกาศ เรื่อง ยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน จากผู้ยื่นคำขออนุมัติ อนุญาต ฯลฯ หรือดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง หรือหากกรณีมีความจำเป็นต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อประกอบการพิจารณา ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอเป็นผู้จัดทำสำเนาเอกสารขึ้นเองโดยห้ามมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระของประชาชน[1] กรณีดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งที่ผ่านมา กรมการปกครองมีความพยายามประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการสารสนเทศภายในองค์กร เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติราชการให้ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพของบุคลากรเพื่อปรับปรุงองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูงในการให้บริการประชาชนตามแผนปฏิบัติการดิจิทัลกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2563-2565

 

 

หนึ่งในโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการปกครอง คือ โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA Digital ID)[2] เป็นโครงการนำร่องที่มีการนำนวัตกรรมการสร้างต้นแบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตัวทางดิจิทัล โดยกำหนดเป้าประสงค์การพิสูจน์และยืนยันตัวตนให้สามารถเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกันแทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตนเพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ DOPA Digital ID เกิดจากแนวคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนลดขั้นตอนและระยะเวลาเมื่อต้องติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น งานทะเบียนราษฎร ซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนที่เราใช้กันในปัจจุบัน มีชิปเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของบุคคลที่สามารถอ่านข้อมูลด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Digital ID เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วเมื่อต้องเริ่มต้นทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การเข้าใช้งานอีเมล หรือแม้แต่การใช้งาน Mobile Banking “กระบวนการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันตัวตน” จึงเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับ Digital ID โดยเมื่อผู้รับบริการสามารถพิสูจน์ตัวตนกับ Digital ID ได้แล้ว หลังจากนั้น ก็จะนำ Digital ID นั้นมาใช้สำหรับการยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการธุรกรรมต่าง ๆ[3]  

 

 

กรมการปกครอง ในฐานะหน่วยงานหลักที่เก็บอัตลักษณ์ของคนไทยตั้งแต่เริ่มทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกเมื่ออายุ 7 ปี จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน D.DOPA ที่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ iOS เมื่อดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันแล้ว ผู้ใช้บริการสามารถไปติดต่อที่อำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อขอ Digital ID ผ่านกระบวนการง่าย ๆ คือ แสดงบัตรประจำตัวประชาชน เสียบบัตรเพื่ออ่านข้อมูล ตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อพิสูจน์ตัวตน จากนั้นยืนยันตัวตนด้วยการสแกน QR Code และกำหนดรหัส (PIN) ด้วยตัวเลขสามหลักให้ถูกต้อง สิ่งที่ผู้ขอ Digital ID จะได้รับเมื่อเข้าใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน คือ ทำให้ทราบข้อมูลของบุคคลดังกล่าวที่รัฐจัดเก็บไว้ทั้งหมด ไม่เพียงเฉพาะข้อมูลทางทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง แต่เป็นฐานข้อมูลประชาชนของส่วนราชการ (Linkage Center) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการให้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลทุกภาคส่วน เช่น ข้อมูลการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลการรับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ฯลฯ ปัจจุบันกรมการปกครองได้นำโครงการดังกล่าวเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Service Sandbox) ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อต้องการให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งที่จะนำไปให้บริการประชาชนสอดคล้องตามกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัยสูง Digital ID นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการใช้อย่างแพร่หลายเพื่อสร้างมิติใหม่สำหรับการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม และเพื่อสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้าหรือการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ประการสำคัญคือเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยให้ดียิ่งขึ้น

 

 

ขณะนี้ กรมการปกครองได้พัฒนาโครงการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA Digital ID) ให้กับส่วนราชการในเฟสแรก ซึ่งในอนาคตก็จะสามารถให้บริการกับเอกชนได้ ความท้าทายคือด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานที่หลากหลาย แต่ละธุรกิจก็มีความต้องการที่ต่างกัน ทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือและสนับสนุนว่าจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างไร นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมการปกครอง มีการกำหนดแผนปฏิบัติการ (Roadmap) ด้วยการพัฒนาระบบให้ผู้รับบริการสามารถลงทะเบียนได้เองผ่าน Face Verification Service ซึ่งเป็นระบบที่รองรับผู้ใช้บริการได้ทั่วประเทศ และเพิ่มงานบริการ เช่น การขอเลขที่บ้าน การตรวจ คัด และรับรองเอกสารการทะเบียนราษฎร และภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะพัฒนาเกี่ยวกับ e-Signature, e-Certificate, e-Payment, e-Receipt รวมทั้ง เพิ่มงานบริการให้เป็นระบบดิจิทัล เช่น การขอออกใบแทนใบย้าย การแจ้งรื้อถอนบ้านหรือบ้านถูกทำลาย    การรับแจ้งเอกสารทะเบียนราษฎรที่สูญหายหรือถูกทำลาย การขอเลขที่บ้าน เป็นต้น[4]

 

                [1] ประกาศกรมการปกครอง ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 เรื่อง ยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน

                [2] กรมการปกครอง, ‘การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID)’ <https://www.bora.dopa.go.th/images/snbt/book/63/mt0309_v25388.pdf> สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564.

                [3] สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ‘ETDA Live Ep.5: ลงทะเบียน D.DOPA ติดต่อราชการแบบออนไลน์ได้เลย’ (Knowledge Sharing, 12 เมษายน 2564) <https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/Knowledge-Sharing/DDOPA-in-ETDA-Sandbox.aspx> สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564.

                [4] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, ‘การประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID)’ <https://www.opdc.go.th/content/NzE3OQ> สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564.


21 ธันวาคม 2564


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ