Alumni

ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 80 : ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของนายเรอเน กียอง

พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 80 จาก #TULAWInfographic

.

ในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นายเรอเน กียองได้จัดทำ “ข้อเสนอสำหรับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยาม” ขึ้นมา โดยมีเนื้อหาที่ได้รวบรวมมาจากหลากหลายประเทศและมีประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

.

ข้อเสนอดังกล่าวมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง และมีเรื่องใดบ้างที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญถาวร 2475 อย่างไร #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากวารสารนิติศาสตร์ เรื่องร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของนายเรอเน กียอง โดย ผศ.ดร.ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ 

.

งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3LqTu2j

.

รัฐธรรมนูญเรอเน กียอง

หลังสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน “ฉบับชั่วคราว” และได้แต่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่ง สำหรับการจัดทำธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายเรอเน กียอง ในฐานะที่ปรึกษากรมร่างกฎหมายได้จัดทำ “ข้อเสนอสำหรับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยาม” ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้พิจารณาเป็นแนวทางการยกร่างธรรมนูญ “ฉบับถาวร” โดยร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่นายกียองจัดทำขึ้นแบ่งเนื้อหาเป็น 6 หมวดคือ

.

– หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

เริ่มต้นด้วยการบัญญัติให้ราษฎรชาวสยามทั้งหลายเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในประเทศ และรับรองรูปแบบการปกครองว่าเป็นระบบปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (limited monarchy) ที่พระราชอำนาจสืบทอดทางมรดก โดยแบ่งอำนาจสูงสุดออกเป็นทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งมีประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวตามที่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินกำหนด ผ่านทางกษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล 

.

รวมทั้งยังมีมาตราที่กล่าวถึงกรรมสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ว่า หากไม่ใช่กรณีที่เอกชนเป็นเจ้าของอยู่แล้วตามกฎหมายให้ถือว่าเป็นของราษฎรสยามแต่ดั้งเดิม โดยจะยกหรือจัดสรรมาเป็นสาธารณสมบัติหรือสิ่งสาธารณูปโภคได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น ตลอดจนบทบัญญัติที่รองรับการปกครองตนเองของท้องถิ่นเมื่อประเทศเจริญรุ่งเรืองจนเหมาะสมแก่กาลสมัยแล้ว

.

– หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ที่สำคัญ 

นายกียองได้อธิบายเอาไว้ว่า หมวดนี้ได้ทำร่างขึ้นตามแนวทางของประเทศที่บัญญัติสิทธิและหน้าที่ให้ผูกพันกับผู้อยู่อาศัยในเขตดินแดนของรัฐอย่างทั่วหน้า ไม่แบ่งแยกว่าเป็นราษฎรของประเทศหรือชาวต่างชาติ เว้นเสียแต่ในกรณีที่ต้องการสงวนหรือเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเอาไว้สำหรับราษฎรของประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น กรณีสิทธิทางการเมือง โดยเฉพาะสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

.

โดยได้รับรองสิทธิอย่างหลากหลาย อาทิ หลักความเสมอภาคของบุคคลเบื้องหน้ากฎหมาย หลักความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย การคุ้มครองเสรีภาพของบุคคล การคุ้มครองที่อยู่อาศัยของบุคคล การคุ้มครองทรัพย์สินของบุคคล การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมตัวกันเป็นสมาคม และการคุ้มครองเสรีภาพในการปฏิบัติตามความเชื่อหรือหลักศาสนาที่ไม่เป็นปฏิปักษ์กับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น

.

อย่างไรก็ตามในตอนต้นของหมวดสิทธิและหน้าที่ที่สำคัญ นายกียองได้ให้เหตุผลในการจงใจละบทบัญญัติหลายเรื่องซึ่งรัฐธรรมนูญของบางประเทศมีการรับรองเอาไว้อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ เช่น การได้มาหรือเสียไปซึ่งสัญชาติ การสมรส สถาบันครอบครัว ตลอดจนสิทธิทางกฎหมายเอกชนและทางกฎหมายอาญา เนื่องจากเขาเห็นว่าหากต้องรับรองเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ย่อมส่งผลให้รัฐธรรมนูญมีความยาวมากเกินไปโดยใช่เหตุ

.

– หมวด 3 อำนาจนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร)

แบ่งย่อยออกเป็นสามส่วนว่าด้วยการประกอบตั้ง อำนาจและหน้าที่ และระเบียบการชุมนุม โดยส่วนแรกกล่าวถึงกระบวนการได้มาคุณสมบัติ วาระ ตลอดจนเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

.

ในส่วนของการได้มาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของราษฎรโดยอ้อม เป็นการเลือกตั้งโดยคณะผู้แทนตำบลซึ่งมาจากการเลือกโดยคณะตัวแทนหมู่บ้านที่มาจากการเลือกระหว่างผู้อยู่อาศัยของแต่ละหมู่บ้านกันเอง

.

รวมทั้งมีการบัญญัติคุ้มครองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรโดยรับรองสถานะ “อันละเมิดมิได้”เอาไว้ พร้อมทั้งกำหนดให้การโจมตีความมั่นคงหรือเสรีภาพของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนการสั่งการหรือบังคับการเพื่อเป้าหมายดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงด้วย

.

อำนาจสำคัญที่สุดของสภาผู้แทนราษฎรก็คือการออกกฎหมาย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้มีการประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาโดยมีพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ประกอบ ทั้งนี้หากไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็จะมีผลนับแต่วันที่ลงโฆษณานั้นเป็นต้นไป 

.

แต่หากเป็นกรณีซึ่งกฎหมายผ่านสภาแล้ว แต่กษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ พระองค์อาจพระราชทานร่างคืนกลับมาให้สภาพิจารณาอีกครั้งได้ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่ที่ทรงได้รับพระราชบัญญัติ หากสภายืนยันมติเดิมและกษัตริย์ก็ทรงยืนยันไม่เห็นชอบ เมื่อล่วงระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่ที่ทรงได้รับถวายร่างซึ่งมีมติยืนยันมาแล้ว สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจที่จะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเองได้เลย

.

– หมวด 4 อำนาจบริหาร (กษัตริย์และคณะกรรมการราษฎร)

แบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วนคือกษัตริย์และคณะกรรมการราษฎร โดยมีความตั้งใจในการดึงกษัตริย์เข้ามายังฝ่ายบริหารด้วย 

.

  1. ส่วนกษัตริย์

ในส่วนแรกเริ่มต้นด้วยการรับรองสถานะของกษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ กฎหมาย คำพิพากษา หรือการกระทำอื่นใดที่กฎหมายระบุไว้เป็นการเฉพาะจะต้องกระทำในนามของกษัตริย์ ขณะเดียวกันในบรรดากิจการและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นกษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะผู้แทนแห่งราชอาณาจักรสยาม 

.

รวมทั้งได้ระบุว่ากษัตริย์ของประเทศคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 แต่กรณีกษัตริย์จะระบุตั้งผู้ใดผู้หนึ่งตามกฎมณเฑียรบาลนั้น ต้องได้รับสัตยาบันจากสภาผู้แทนราษฎร 

.

หากมีเหตุจำเป็นชั่วคราวทำให้กษัตริย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่อยู่ในพระนคร คณะกรรมการราษฎรจะเป็นผู้ใช้สิทธิและหน้าที่ของกษัตริย์แทน หรือถ้าหากเป็นกรณีที่กษัตริย์เป็นผู้เยาว์หรือทรงพระประชวรถาวรจนไม่สามารถกระทำหน้าที่ได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือคณะกรรมการราษฎรตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหนึ่งคนเป็นผู้ใช้พระราชอำนาจแทน

.

นอกจากนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์เอาไว้ว่า เอกสารที่ออกโดยกษัตริย์ จะชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีกรรมการราษฎรนายหนึ่งลงนามกำกับด้วยความยินยอมของคณะกรรมการราษฎร และกำหนดกรณีถ้าจะมีการฟ้องคดีกษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องฟ้องต่อสภาผู้แทนราษฎรที่จะเป็นผู้พิจารณาในฐานะศาลยุติธรรมสูงสุด 

.

อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรก่อน โดยการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้อำนาจและปฏิบัติไปตามกระบวนพิจารณาเหมือนเช่นกรณีคดีในศาลอาญา

.

  1. ส่วนคณะกรรมการราษฎร 

แบ่งออกเป็นสามหมวดย่อยเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร คือ ว่าด้วยการประกอบตั้ง อำนาจหน้าที่ และระเบียบการประชุม ข้อเสนอของนายกียองกำหนดให้ คณะกรรมการราษฎร ต้องมาจากสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร แล้วประธานคณะกรรมการราษฎรจะเลือกสมาชิกสภาอีกสิบสี่คนเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

.

ทั้งนี้ วาระของคณะกรรมการราษฎรจะสิ้นสุดลงพร้อมกับสภาผู้แทนราษฎร หรือหากสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าสมาชิกคนใดคนหนึ่งของคณะกรรมการราษฎรปฏิบัติหน้าที่สวนทางกับนโยบายของสภา ก็สามารถถอดถอนสมาชิกคนดังกล่าวได้ ในกรณีที่สมาชิกของกรรมการราษฎรถูกถอดถอน ขาดคุณสมบัติ หรือเสียชีวิต ก็ให้ประธานคณะกรรมการราษฎรตั้งสมาชิกใหม่เข้ามาแทนที่ 

.

การใช้อำนาจของคณะกรรมการราษฎรจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎรโดยมีสิทธิและหน้าที่ที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ อันจำเป็นเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำแนะนำดังกล่าว ในกรณีปรากฏสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันท่วงทีคณะกรรมการราษฎรจะออกกฎหมายที่เห็นว่าจำเป็นควรแก่พฤติการณ์ก็ได้ แต่ต้องเสนอเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขออนุมัติจากสภาโดยไม่ชักช้า

.

นอกจากที่กล่าวมา คณะกรรมการราษฎรมีอำนาจถวายคำแนะนำให้กษัตริย์ทรงประกาศสงคราม ทำสันติภาพ หรือทำสัญญาทางพระราชไมตรี ทรงพระราชทานอภัยโทษหรือยกโทษผู้ทำผิดกฎหมาย

ทรงพระราชทานหรือถอดถอนบรรดาศักดิ์หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือทรงตั้งข้าราชการพลเรือน ทหารบก หรือทหารเรือตั้งแต่ชั้นเจ้ากรมขึ้น 

.

รวมทั้งได้บัญญัติให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ให้คำแนะนำกษัตริย์ในการแต่งตั้งและถอดถอนเสนาบดีตามจำนวนและตามกรอบอำนาจที่จะได้แบ่งจัดสรรกิจการงานแต่ละกระทรวงภายใต้กรอบกฎหมายที่จะมีการกำหนดไว้แต่ละคราวด้วย โดยเสนาบดีแต่ละนายจะเป็นประธานผู้รับผิดชอบกระทรวงซึ่งตนควบคุมดูแล

.

– หมวด 5 อำนาจตุลาการ 

โดยกล่าวถึงอำนาจทั่วไปของศาลและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ โดยบัญญัติให้เขตอำนาจศาลเป็นไปตามกฎหมายธรรมนูญศาลยุติธรรม กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและความ

อาญา ทั้งนี้นอกจากกรณีศาลยุติธรรมสูงสุดคดีฟ้องกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท ตามที่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินกำหนดไว้ และศาลทหารบกหรือศาลทหารเรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายแล้ว ห้ามมิให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษอย่างอื่นอีก

.

เว้นเสียแต่การจัดตั้งศาลปกครองเมื่อเห็นเป็นการเหมาะสมว่าควรมีศาลเฉพาะทำหน้าที่ตรวจสอบความสมบูรณ์ของการกระทำของฝ่ายปกครองทั้งระดับรัฐบาลและท้องถิ่น รวมทั้งยังได้มีการรับรองสิทธิที่สำคัญของราษฎรอันเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเพิ่มเติมไว้ในหมวดนี้ ได้แก่ สิทธิที่จะไม่ถูกการดำเนินคดีโดยไม่มีกฎหมายกำหนด สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยผู้พิพากษาตามกฎหมาย สิทธิในการต่อสู้คดี และสิทธิที่จะไม่ถูกลงโทษโดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ในขณะที่ได้กระทำ 

.

– หมวด 6 การใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนี้และหมวดเฉพาะกาล

นอกจากข้อที่กำหนดให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมีผลบังคับใช้นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป ส่วนที่เหลือเป็นการบัญญัติถึงสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการเปลี่ยนผ่านก่อนจะให้มีการบังคับใช้ตามที่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินกำหนดไว้อย่างเต็มรูปแบบ

.

เปรียบเทียบข้อเสนอของนายกียองกับรัฐธรรมนูญถาวร 2475

ความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญถาวรที่ประกาศใช้กับข้อเสนอสำหรับธรรมนูญของนายกียองนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 5 ประเด็นคือ

.

  1. สิทธิและหน้าที่ของประชาชน

ในหมวด 2 ของ “รัฐธรรมนูญถาวร 2475” ว่าด้วย “สิทธิและหน้าที่” มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ชื่อหมวดที่ระบุว่า “ของชนชาวสยาม” เท่านั้น โดยไม่กล่าวถึงชาวต่างชาติที่อยู่ในดินแดนสยามเลย แตกต่างจากข้อเสนอของนายกียองที่เขียนไว้อย่างชัดแจ้งว่าชาวต่างชาติอาจเป็นผู้ทรงสิทธิประการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สิทธิทางการเมืองได้ 

.

นอกจากนี้ในเชิงปริมาณ รัฐธรรมนูญถาวรมีบทบัญญัติในหมวดสิทธิและหน้าที่เพียง 4 มาตราเท่านั้น ทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติแทรกไว้ในส่วนอื่นอีก นอกจากหลักความเสมอภาคในบททั่วไปและสิทธิเลือกตั้งในหมวดสภาผู้แทนราษฎร แตกต่างจากข้อเสนอของนายกียองที่มีมาตราเกี่ยวกับสิทธิรับรองไว้จำนวนมากและมีความสอดคล้องกับนานาประเทศมากกว่า

.

  1. สถาบันทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญถาวรได้วางหลักว่า อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม โดยมีพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทางใช้อำนาจนั้น ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่มีสภาผู้แทนราษฏร คณะกรรมการราษฎร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน นอกจากนี้การใช้พระราชอำนาจต่าง ๆ จากที่แต่เดิมจะต้องใช้ไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร เปลี่ยนมาเป็นการบัญญัติโดยกล่าวถึงแต่เฉพาะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงใช้พระราชอำนาจเท่านั้น โดยถือว่ามีการกำกับเอาไว้ชั้นหนึ่งแล้วจากการที่ต้องมีรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ

.

อย่างไรก็ตามการลงนามกำกับหรือการรับสนองพระบรมราชโองการตาม “รัฐธรรมนูญถาวร 2475” นั้นได้ตัดเงื่อนไขความยินยอมของคณะรัฐมนตรีออก ทั้งยังใช้คำเฉพาะเจาะจงกว่าอย่าง “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ” รวมถึงระบุต่อไปด้วยว่าต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเฉพาะเรื่อง “อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน” ซึ่งต่างจากเดิมที่เขียนว่า “การกระทำใด ๆ ” หรือ“

เอกสารใดๆ” เพียงกว้าง ๆ

.

อีกประเด็นหนึ่งคือ ในส่วนของอำนาจบัญญัติกฎหมายของฝ่ายบริหารในกรณีฉุกเฉิน ที่แต่เดิมเขียนไว้เป็นอำนาจของคณะกรรมการราษฎรโดยไม่ได้กล่าวถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของกษัตริย์ ก็ถูกแก้ไขให้เป็นพระราชอำนาจตราพระราชกำหนดของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงพระราชอำนาจตราพระราชกฤษฎีกาในฐานะกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติมมาอีกด้วย

.

  1. การถ่วงดุลระหว่างนิติบัญญัติและบริหาร

“รัฐธรรมนูญถาวร 2475” ยืนยันระบบรัฐสภาตามข้อเสนอของนายกียองที่รับรองให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีเครื่องมือตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกัน อย่างไรก็ตามได้มีการเปลี่ยนแปลงตรงสำนวนถ้อยคำว่าด้วยอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารของสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมที่คณะกรรมการราษฎรมีหน้าที่ดำเนินการ “ตามคำแนะนำของสภา” มาเป็นการบัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ “บริหารราชการแผ่นดิน” ซึ่ง“ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไว้ใจของสภาผู้แทนราษฎร” 

.

โดยจะต้องพ้นจากตำแหน่งหากสภา“ลงมติไม่ไว้ใจ” อันเป็นการรับรองอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารออกมาให้มีภารกิจเป็นของตนเอง ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาเช่นเดิม แต่ก็ไม่ถึงขนาดต้องผูกพันกับความประสงค์ของสภาเหมือนแต่ก่อน ถือเป็นการสอดคล้องกับแนวทางของระบบรัฐสภายิ่งขึ้นกว่าเดิม

.

  1. การตีความรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญถาวรก็ได้เติมบทบัญญัติที่ให้ “สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้” มาวางไว้ต่อจากหลัก ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการเขียนขึ้นมาตามคำแนะนำของ นายเรมอนด์ สตีเวนส์ ที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศชาวอเมริกันซึ่งเห็นว่าสถานการณ์ของประเทศสยามในขณะนั้นยังไม่เหมาะสมที่จะให้องค์กรตุลาการเข้ามาควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติตามแบบที่ประเทศบ้านเกิดของเขาเป็นอยู่

.

  1. การรับรองสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มากขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้แยกหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมาต่างหากและเพิ่มมาตราใหม่ อาทิ การรับรองสถานะที่ไม่สามารถละเมิดได้ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปไม่ว่าจะโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้ง ดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง เป็นการห้ามราชวงศ์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการเมืองที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตย

.

รวมทั้งเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการโดยให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ที่จะตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร หากไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงบริหารราชภาระไม่ได้ ต่างจากเดิมที่กำหนดว่า คณะกรรมการราษฎรจะใช้อำนาจแทนโดยอัตโนมัติ รวมทั้งยังไม่ได้มีการกล่าวถึงกรณีกษัตริย์ทรงเป็นผู้เยาว์หรือทรงพระประชวรถาวรจนไม่สามารถกระทำหน้าที่ได้เป็นพิเศษด้วย

.

นอกจากนี้ “รัฐธรรมนูญถาวร 2475” ยังตัดบทบัญญัติที่ว่าด้วยความเป็นไปได้ในการฟ้องคดีพระมหากษัตริย์ต่อสภาผู้แทนราษฎรออกไป อันหมายความในทางกลับกันว่า ความคุ้มกันจากการถูกฟ้องคดีต่อศาลขององค์พระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างชัดแจ้งแล้วเช่นกัน เหลือแต่เพียงความหมายโดยนัยจากบทบัญญัติว่าด้วย “การละเมิดองค์พระมหากษัตริย์มิได้” ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่เท่านั้น

.

รัฐธรรมนูญในรูปแบบกษัตริย์เป็นประมุข

ในเชิงกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ การเขียนเอาไว้แบบ “รัฐธรรมนูญถาวร 2475” ที่เหมือนจะชัดเจนน้อยลงนี้ สอดคล้องกับแบบแผนในรัฐธรรมนูญของประเทศที่เป็นราชอาณาจักรทั้งหลายซึ่งกำ

หนดรูปแบบทางการของการใช้อำนาจให้ดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ 

.

อย่างไรก็ตามบริบทรัฐธรรมนูญในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งกษัตริย์หลายประเทศยังคงเป็น “ส่วนปฏิบัติการ” (efficient) ของรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับฐานะที่เป็น “ส่วนอันทรงเกียรติ” (dignified) อยู่ไม่มากก็น้อยนั้น ศักดาส่วนปฏิบัติการนี้จะมีอยู่หรือไม่ เพียงใด ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์และสถาบันทางการเมืองอื่นตามความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี ที่หลายกรณีก็นำไปสู่การเปลี่ยนความหมายอย่างไม่เป็นทางการให้องค์กรผู้รับผิดชอบกลายเป็นผู้ทรงอำนาจที่แท้จริง แต่บางครั้งก็เป็นโอกาสให้กษัตริย์สามารถใช้อิทธิพลกำกับสั่งการทางการเมืองได้

.

ที่มา: ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ‘ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของนายเรอเน กียอง’(2566) 52(4) วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์792.


19 กรกฎาคม 2567


ถ่ายภาพ -
แต่งภาพ -

You might be interested

Alumni

โครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์

ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ

Alumni

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ

Alumni

TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2024

ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ