Alumni
เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ ในสำนักงานที่เงียบมากมีเจ้าหน้าที่มาทำงานเพียงร้อยละ 10 เพราะที่เหลือถูกคำสั่งให้ work from home เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 3 ผู้เขียนได้ช่วยตอบคำถามที่ผู้รับโทรศัพท์ส่งต่อมาให้ ซึ่งประเด็นคำถามก็จะซ้ำ ๆ กัน ถามถึงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษโรงงาน แต่มีความแตกต่างในรายละเอียด เช่น การเก็บตัวอย่างมลพิษ ค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง การปฏิบัติตามกฎหมายดินและน้ำใต้ดินภายในโรงงาน ค่ามาตรฐานสิ่งเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานซึ่งกำหนดเป็นมาตรฐานทั่วไป มาตรฐานเฉพาะประเภทอุตสาหกรรมและมาตรฐานตามเชื้อเพลิงที่ใช้ การวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม(sensory test) เสียงรบกวน กากอุตสาหกรรมที่เป็นของเหลววิเคราะห์ STLC ด้วยวิธีใด เรื่องการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เอกชน เรื่องบุคลากรสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน การรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษ (รว.1-3) ระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกล (OPMs/CEMs) ล้วนเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษโรงงานทั้งสิ้น
แผนผังที่ 1 : การทำงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
* ผู้อำนวยการกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม, น.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รหัส 57),วท.ม. มหาวิทยาลัยมหิดล |
และสายโทรศัพท์ที่จะเล่าให้ฟังเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งผู้ถามให้ข้อมูลว่า “หนูเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ และเข้ามาทำงานโรงงานนี้ได้ 3 วันค่ะ คนเก่าที่ทำหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมเขาลาออกแล้ว ไม่ทราบว่าหนูต้องทำตามกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษโรงงานอะไรบ้าง” เป็นคำถามที่ทำให้ผู้เขียนอึ้งไปสักพัก จึงให้ข้อมูลผู้ถามว่าพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มีการปรับนิยามคำว่า “โรงงาน” มาเป็น “อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ห้าสิบแรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไปไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ” (จากเดิมกำลังเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้าหรือคนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป) ทำให้สถานประกอบการเดิมจำนวนหลายหมื่นรายที่เคยเป็นโรงงานจะไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานในปัจจุบัน แต่ยังคงเป็นสถานประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต่อไป ซึ่งก็สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 1 และโรงงานจำพวกที่ 2 เช่นกัน
ผู้เขียนแนะนำให้ผู้ถามรวบรวมข้อมูลสำคัญอันเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายใช้กำหนดวิธีการจัดการมลพิษโรงงาน ได้แก่ การประกอบกิจการโรงงาน ประเภทหรือลำดับที่โรงงาน กำลังการผลิต (ตันต่อวัน) ความสกปรกของน้ำเสียขาเข้าระบบบำบัด BOD Load of Influent (กิโลกรัมต่อวัน) ปริมาณน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน (ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) จากนั้นสามารถเข้าไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษโรงงานในเว็บไซต์ www.diw.go.th เลือกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเลือก “พ.ร.บ.โรงงาน” เลือก “สิ่งแวดล้อม” แล้วเข้าไปดูรายละเอียดทีละด้าน ได้แก่ ด้านน้ำ ด้านอากาศ ด้านกากอุตสาหกรรม หรือด้านบุคลากรและอื่น ๆ
ในที่นี้ผู้เขียนเลือกหัวข้อที่จะอธิบายตัวอย่างการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษน้ำตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 4 ฉบับ (ตารางค่ามาตรฐานตาม QR code ที่แนบท้ายบทความนี้ และตามแผนผัง ดังต่อไปนี้
แผนผังที่ 2 : กฎหมายเกี่ยวข้องกับมาตรฐานน้ำทิ้งที่ระบายออกนอกจากโรงงาน
1. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 กำหนดค่ามาตรฐานน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานทั่วไปกำหนดวิธีวิเคราะห์ทดสอบ กำหนดจุดเก็บตัวอย่าง (ให้เก็บในจุดระบายทิ้งออกจากโรงงาน ไม่ว่าจะมีจุดเดียวหรือหลายจุดก็ตาม หรือจุดอื่นที่สามารถใช้เป็นตัวแทนของน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน กรณีมีการระบายน้ำทิ้งหลายจุดให้เก็บทุกจุด) ให้ใช้วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำแบบจ้วง(Grab Sample) ซึ่งมีข้อสังเกตใน ข้อ 9 “การกำหนดค่ามาตรฐานน้ำทิ้งให้แตกต่างไปจากข้อ 5 สำหรับโรงงานประเภทหรือชนิดใดเป็นการเฉพาะให้เป็นไปตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม” และสิ่งสำคัญที่กำหนดในข้อ 10 “ให้ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้ง ที่ระบายออกนอกโรงงานให้มีค่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะของน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ยังคงบังคับใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการยกเลิก”
2. ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้ง ที่ระบายออกนอกโรงงานให้มีค่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะของน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540
3. ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตเยื่อและโรงงานผลิตกระดาษ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นประกาศที่อาศัยอำนาจตามข้อ 9 แห่งประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่แตกต่างจากค่ามาตรฐานน้ำทิ้งทั่วไปเพื่อใช้สำหรับโรงงานลำดับที่ 38 (1)(2) และโรงงานบำบัดน้ำเสียรวม (101) ซึ่งรับน้ำเสียเฉพาะจากโรงงานผลิตเยื่อ หรือโรงงานผลิตกระดาษ หรือทั้งสองโรงงานโดยกำหนดค่ามาตรฐานเฉพาะจำนวน 5 รายการ ได้แก่ สี (Color), ของแข็งแขวนลอยทั้งหมด (Total Suspended Solids), บีโอดี (Biochemical Oxygen Demand), ซีโอดี (Chemical Oxygen Demand) และทีเคเอ็น (Total Kjeldahl Nitrogen)
4. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการฟอก ขัด หรือเคลือบสีหนังสัตว์ พ.ศ. 2561 เป็นประกาศเฉพาะสำหรับโรงงานลำดับที่ 29
โรงงานหมัก ชำแหละ อบ ป่นหรือบด ฟอก ขัดและแต่ง แต่งสำเร็จ อัดให้เป็นลายนูน หรือเคลือบสีหนังสัตว์ รวมถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (Central Waste Treatment Plant) ในประเภทหรือชนิดของโรงงานลำดับที่ 101 ที่รับน้ำเสียเฉพาะจากโรงงานในประเภทหรือชนิดของโรงงานลำดับที่ 29 ดังกล่าวข้างต้นด้วย และที่มีข้อสังเกตในข้อ 4 ของประกาศนี้ “ห้ามมิให้นำความในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุม การระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 มาใช้บังคับกับโรงงานตามประกาศนี้” และข้อสังเกตประกาศฉบับนี้มีการกำหนดค่ามาตรฐานฟอสฟอรัสทั้งหมด (Total Phosphorus) และค่ามาตรฐานโครเมียมทั้งหมด (Total Chromium) ซึ่งไม่มีกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560นอกจากการพิจารณาค่ามาตรฐานน้ำทิ้งแล้วโรงงานที่มีปริมาณน้ำเสียขาเข้าระบบบำบัดมีค่า BOD Load of Influent มากกว่าหรือเท่ากับ 4,000 กิโลกรัมต่อวัน หรือปริมาณน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ BOD/COD online ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2539 และตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียตั้งติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพิ่มเติม พ.ศ. 2547 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2548 (ยกเว้นโรงงานที่ไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานและโรงงานที่มีการนำน้ำทิ้งไปบำบัดที่โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (Central Waste Treatment Plant) ไม่ต้องติดตั้งเครื่องมือตามประกาศนี้) โดยให้เชื่อมโยงผลการตรวจวัดมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และมีการตรวจสอบค่าความคลาดเคลื่อนของเครื่องตรวจวัดบีโอดีหรือซีโอดี ให้เป็นไปตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ การให้ความเห็นชอบ โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพิ่มเติม พ.ศ. 2550 อีกด้วย
แผนผังที่ 3 : กฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน
และการติดตั้งเครื่องมือและเครื่องอุปกรณ์พิเศษ
นอกจากนี้ โรงงานที่มีน้ำเสียปนเปื้อนสารอินทรีย์ โรงงานที่มีปริมาณน้ำเสียก่อนเข้าระบบบำบัด ตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป (ยกเว้นน้ำหล่อเย็น) หรือโรงงานที่มีปริมาณความสกปรกในรูปบีโอดีก่อนเข้าระบบบำบัด (BOD Load of Influent) ตั้งแต่ 100 กิโลกรัม และโรงงานที่กำหนดอีกจำนวน 18 ประเภท ต้องมีบุคลากรสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำหนดชนิดและขนาดของโรงงาน กำหนดวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุมดูแล ผู้ปฏิบัติงานประจำ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน ผู้ควบคุมดูแล สำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ. 2545 และ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
กรณีโรงงานที่มีบุคลากรสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานและโรงงานประกอบกิจการอีก 5 รายการที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น โรงงานเกี่ยวกับการทำกระดาษ กระดาษแข็งหรือกระดาษที่ใช้ในการก่อสร้าง ชนิดที่ทำจากเส้นใยหรือแผ่นกระดาษไฟเบอร์ที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไป ยังมีหน้าที่ต้องรายงานมลพิษน้ำและรายงานมลพิษอากาศตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2558
จากตัวอย่างด้านน้ำข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิต ชนิดและปริมาณสารมลพิษขาเข้าระบบบำบัดหรือปริมาตรที่ระบายออกนอกโรงงานเป็นตัวกำหนดว่าโรงงานเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษโรงงานด้านใด ฉบับใดบ้างและหากปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องรวมถึงอาจมีการดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
ปัจจุบัน “การบังคับใช้กฎหมาย” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยซึ่งมีการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี โดยเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนปี พ.ศ. 2540 ที่มีการควบคุมมลพิษโรงงานที่ปลายท่อ (End of pipe) ต่อมาหลัง พ.ศ. 2540-2551 มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตสะอาด (Cleaner Technology) ส่งเสริม 3R's คือ Reduce Reuse Recycle เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการเกิดของเสีย นำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 มาเป็นเครื่องมือ พร้อมกับสร้างระบบตรวจติดตามด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง(Self-Monitoring) ด้วยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดมลพิษต่อเนื่อง Online Monitoring ระยะไกล การมีบุคลากรสิ่งแวดล้อมประจำโรงงานตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และจากสภาพสังคมที่มีการขยายตัวของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมมาอยู่ใกล้ชิดในพื้นที่เดียวกัน จึงมีการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มีการนำหลักอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) มาใช้และเน้นพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco City- Eco town) ซึ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมควบคู่กับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยมีระบบการบริหารจัดการ 5 มิติ ได้แก่ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการเป็นเมืองที่น่าอยู่และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป
แบบองค์รวม BCG model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมีเป้าหมายเป็นเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ของชาติต่อไป
ผู้เขียนอธิบายให้ผู้ฟังรวมถึงท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามมาถึงช่วงสุดท้ายนี้ให้เห็นภาพการใช้กฎหมายและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงานซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อรักษาสิทธิของประชาชนและสภาพแวดล้อมของชุมชน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ประกอบการส่วนน้อยที่ยังคงไร้สำนึกเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนได้สร้างความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง จนนำมาซึ่งการฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเพื่อให้โรงงานชดใช้ เยียวยา และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม แต่ผู้เขียนขอย้ำว่ากรณีเช่นนี้เป็นเพียงส่วนน้อย ในขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานจำนวนกว่าเจ็ดหมื่นโรงงานพยายามปฏิบัติตามกฎหมายดังที่ผู้เขียนได้นำมาเป็นตัวอย่างในกรณีมีผู้สอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ข้างต้นว่าต้องทำตามกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษโรงงานอะไรบ้างผู้ประกอบการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเข้าใจกฎหมายอย่างถูกต้อง นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม เสมอภาคและเท่าเทียม
สามารถดูตารางค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง ได้ที่
Alumni
ศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี เกษมทรัพย์ ได้จัดโครงการ “เชิดชูครูกฎหมาย" ศาสตร... อ่านต่อ
Alumni
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีกับ คุณธนาธิป พิเชษฐวณิชย์โชค... อ่านต่อ
Alumni
ภาพบรรยากาศกิจกรรม TU Law Run วิ่งลอว์รัน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร... อ่านต่อ